(เพิ่มเติม1) กพช. ยกเลิกใช้เบนซิน 91 ในวันที่ 1 ต.ค.55 เพื่อสนับสนุนพลังงานทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2011 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) วันนี้มีมติยกเลิกน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยประชาชนที่นิยมใช้เบนซิน 91 จะมีทางเลือก คือ ไปใช้เบนซิน 95 หรือ หันมาใช้แก๊สโซฮอล์ ซึ่งจะประหยัดและส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช.ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์เป็นประธาน ประเมินว่าการยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้เอทานอลเพิ่มสูงขึ้น จากอัตราปัจจุบันที่ 1.08 ล้านลิตรต่อวัน เป็นประมาณเกือบ 2 ล้านลิตรต่อวัน หรือจะจำหน่ายได้ประมาณ 404-447 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับไปแก้ไขปัญหาการผลิตและการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ต่อไป

รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า การส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้น รัฐบาลจะพิจารณาทั้งระบบ โดยกระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างภาษียานยนต์ให้สอดคล้องกัน คาดว่าจะมีการประชุมในเร็วๆ นี้

กรณีภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่จะครบกำหนดการปรับลดภาษีในสิ้นปีนี้นั้น ที่ประชุม กพช.วันนี้ยังไม่ได้มีการหารือ แต่ภาพรวมแล้วรัฐบาลเห็นว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน่าจะมีการชะลอไปก่อน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นอำนาจของ รมว.คลัง

ส่วนเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ในปัจจุบันนี้ยกเว้นการจัดเก็บนั้น กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาจะกลับมาจัดเก็บอีกครั้ง แต่จะมีผลช่วงหลังปีใหม่ไปแล้ว เพื่อทำให้กองทุนฯ มีฐานะที่ดีขึ้น และสามารถนำไปบริหารความมั่นคงทางด้านพลังงานได้

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.ได้พิจารณาการปรับปรุงมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี โดยเห็นชอบให้ปรับมาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน มาเป็นไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ประมาณ 4.37 ล้านราย/เดือน ลดภาระที่ต้องชดเชยลงจาก 0.12 บาท/หน่วย เหลือเพียง 0.03 บาท/หน่วย โดยมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายพิชัย กล่าวว่า ที่ประชุม กพช.ยังมีมติอนุมัติกรอบโครงการแผนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดของกระทรวงพลังงาน โดยมีกรอบวงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานมาใช้ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าฟ้าที่ถูกน้ำท่วม ให้มาเป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยรายละเอียดจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนอนุรักษ์ฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

การสนับสนุนวางไว้ 3 แนวทางได้แก่ การช่วยเหลือทางด้านการเงินด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียน (ESCO Fund) มาตรการด้านการเยียวยาและฟื้นฟู ซึ่งจะมีการเข้าไปสนับสนุนการซ่อมแซมและปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรของโรงงานให้เปลี่ยนมาเป็นอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และมาตรการด้านการให้คำปรึกษาและประชาสัมพันธ์ เพื่อฟื้นฟูปรับปรุงสภาพเครื่องจักร เช่น เสนอให้มีการจัดมหกรรมสินค้า อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ในพื้นที่จังหวัด ที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนซื้อสินค้าราคาถูก ทดแทนอุปกรณ์เดิมที่เสียหาย

ทั้งนี้ จะนำเงินกองทุนฯ ไปอุดหนุน เพื่อลดราคาอุปกรณ์ลง 20% ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชน 1 ล้านครัวเรือน ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะมีการสนับสนุนด้านการเงิน ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโดยนำงบกองทุนฯ อุดหนุนลดราคาอุปกรณ์ เครื่องจักรลง 20% ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 20,000 ราย จะได้รับการช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.ได้มีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก รวมทั้งแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (2554-2573) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยในแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (2555-2564) จะใช้แทนแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปีของเดิม โดยกำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 7,413 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในปี 2555 เป็น 25,000 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในปี 2564 หรือคิดเป็น 25% ของการใช้พลังงานรวมที่คาดว่าในปี 2564 จะอยู่ที่ 99,838 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

แผนนี้จะสามารถผลิตพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 25% มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ 9,201 เมกะวัตต์ ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 39.97 ล้านลิตรต่อวัน หรือประมาณ 44% ของการใช้น้ำมันโดยรวม คาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน 574,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน 442,000 ล้านบาท ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ 76 ล้านตันต่อปี และในปี 2564 มีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต 23,000 ล้านบาท

ส่วนแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี จะมีการกำหนดกรอบการพัฒนาการอนุรักษ์พลังงานทุกภาคส่วน โดยเมื่อถึงปี 2573 จะลดการใช้พลังงานได้ทั้งสิ้น 38,200 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 130 ล้านตันต่อปี ประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงาน 707,700 ล้านบาทต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ