Analysis: ผู้เชี่ยวชาญเตือนจีนเสี่ยงเผชิญปัญหาจากหนี้สินรัฐบาลท้องถิ่น

ข่าวต่างประเทศ Monday January 23, 2012 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจ้าว ซีจุน คณบดีคณะงบประมาณและการเงินแห่งมหาวิทยาลัยเรนมิน ยูเวอร์ซิตี้ ออฟ ไชน่า กล่าวเตือนว่า จีนควรจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นจะครบกำหนดการจ่ายชำระหนี้เป็นจำนวนถึง 1.84 ล้านล้านหยวนในปีนี้ หลังมียอดหนี้สิน ณ สิ้นปี 2553 เป็นจำนวนสูงถึง 10.7 ล้านล้านหยวน โดยรายงานของสำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งชาติที่เปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาระบุว่า 79% ของยอดดังกล่าวเป็นการกู้ยืมจากธนาคาร

นายจ้าวกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้กู้ยืมเงินเพื่อป้องกันปัญหาจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 หลังรัฐบาลจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากเพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อใหม่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ซึ่งครบกำหนดชำระในปีนี้

ข้อมูลสถิติของสำนักงานตรวจสอบบัญญชีแห่งชาติบ่งชี้ว่า ยอดหนี้สินจำนวน 10.7 ล้านล้านหยวน เป็น การกู้ยืมสำหรับโครงการสาธารณูปโภคและรัฐบาลท้องถิ่นผ่านหน่วยงานระดมทุนถึง 70% ส่งผลให้ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของหน่วยงานระดมทุนของรัฐบาลท้องถิ่นได้ถูกจับตามองเป็นพิเศษในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ถึงแม้ว่าจีนจะคุมเข้มในเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ โดยหนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่งรายงานว่า หน่วยงานระดมทุนของมณฑลเหลียวหนิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมียอดผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่า 85% ในปี 2553

ด้านนายเหอ ซีจุน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารไชน่า อากริคัลเจอร์ แบงก์ ระบุว่า "รัฐบาลจีนควรดำเนินการบางอย่างเกี่ยวกับยอดงบดุลธนาคาร เพื่อให้มีเวลาทำงานมากขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัว"

ทั้งนี้ ยอดหนี้สินส่วนใหญ่ของรัฐบาลท้องถิ่นเป็นการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค โดย 36.72% เพื่อแผนการพัฒนาเขตเมืองและอีก 24.89% เป็นการลงทุนด้านขนส่งมวลชน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า เม็ดเงินลงทุนในทรัพย์สินถาวรของรัฐบาลท้องถิ่นมีการขยายตัวอย่างน้อย 26% ในปี 2554 ในขณะที่รัฐบาลกลางได้เริ่มควบคุมความร้องแรงของโครงการดังกล่าวลง

นายจิน ตงเฉิน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสรรพากรชี้ว่า เรื่องดังกล่าวโยงไปถึงปัญหาอื่นๆ ของจีน ซึ่งรวมไปถึงการชะลอตัวลงอย่างมากของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยระบุว่า เนื่องจากที่ดินมีจำกัด การพึ่งพาการ ขายที่ดินเพื่อชำระหนี้อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ

นายจินได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ความเสี่ยงเกิดจากการที่ระฐบาลท้องถิ่นได้ลงทุนเป็นจำนวนมากและอาจจะไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากยอดการใช้จ่ายมีสูงกว่ารายได้ของรัฐบาล ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลท้องถิ่นจึงได้เริ่มระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรของเทศบาลเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพื่อเป็นทางเลือกแทนการกู้ยืมจากธนาคาร"

ทั้งนี้ นายจ้าวได้ยกตัวอย่างวิกฤติหนี้สินในยุโรปว่า กรณีศึกษาจากวิกฤตหนี้ยุโรปอาจจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของจีนมีความโปร่งใสมากขึ้น และเชื่อว่าจีนจะใช้ความรอบคอบในเรื่องดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

บทวิเคราะห์โดย ติง เหล่ย จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ