พณ.หวังยุ่นเปิดตลาดข้าว-สิ่งทอ-ไก่ไทยเพิ่ม หลังร่วมคณะนายกฯเยือนญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 13, 2012 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงผลการเดินทางร่วมคณะไปกับนายกรัฐมนตรี เยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 6-9 มี.ค.55 ว่า รมว.พาณิชย์ไทยได้เข้าพบกับรมว.เศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม(เมติ)ของญี่ปุ่น โดยหารือถึงประเด็นการค้า การลงทุน เพื่อผลักดันให้เกิดความคืบหน้ายิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งในเรื่องไก่สดแช่แข็ง, ข้าว, สิ่งทอ, ครัวไทยสู่โลก, ธุรกิจสปา เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับข่าวดีในเร็วๆ นี้

โดยในเรื่องข้าวนั้น ปัจจุบันมีมาตรการปกป้องการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เช่น การเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 114 บาท/กก. ซึ่งไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดให้กับข้าวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบของข้าวที่นำเข้าเพื่อการบริโภคที่ญี่ปุ่นเปิดนำเข้าปีละประมาณ 100,000 ตัน เพราะยังมีการนำเข้าจากไทยน้อยมากในแต่ละปีเพียง 20% ของปริมาณการนำเข้าเท่านั้น

พร้อมกันนั้น ไทยมีแผนที่จะเสนอให้ผู้นำเข้าข้าวไทยในญี่ปุ่น เสนอขายข้าวไทยให้ร้านอาหารเอเชียอื่นๆ ด้วย เช่น จีน, เกาหลี, อินเดีย และอิตาลีบางส่วนที่มีมากกว่า 5,000 ร้านทั่วญี่ปุ่น นอกเหนือจากขายให้ร้านอาหารไทย 500-600 แห่ง เพื่อขยายฐานผู้บริโภคข้าวไทยในญี่ปุ่นให้ได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับการหารือกับสมาคมผู้นำเข้าไก่ในญี่ปุ่นนั้น ได้ผลักดันให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นสนับสนุนรัฐบาลไทยในการเสนอให้รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยโดยเร็วที่สุด หลังจากไม่พบการระบาดของไข้หวัดนกในไทยตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลขององค์กรโรคระบาดสัตว์(โอไออี) ที่ไทยปลอดจากเชื้อหวัดนกเกิน 90 วันแล้ว แต่จนขณะนี้ญี่ปุ่นยังห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย ทั้งที่ญี่ปุ่นบริโภคไก่ปีละ 2.2-2.5 ล้านตัน สามารถผลิตได้เองปีละ 1.4 ล้านตัน หรือ 65-70% ที่เหลือต้องนำเข้าปีละ 700,000 - 800,000 ตัน

"ภาคเอกชนญี่ปุ่น ก็ต้องการให้รัฐบาลไทยเร่งรัดให้ญี่ปุ่นยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย เพราะไม่ต้องการพึ่งพิงแหล่งผลิตเดียว คือ บราซิล ที่มีการนำเข้ามากกว่า 90% ทำให้ญี่ปุ่นมีอำนาจต่อรองน้อย ซึ่งหากผลักดันได้สำเร็จ คาดว่าไทย จะขยายการส่งออกไก่สด แช่เย็นแช่แข็งไปญี่ปุ่น มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯได้แน่" นางนันทวัลย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ