ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรแข็งค่าเทียบดอลล์ จากข่าวนายกฯอิตาลีลาออก

ข่าวต่างประเทศ Tuesday December 11, 2012 07:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรดีดตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วันทำการเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 ธ.ค.) เนื่องจากข่าวการลาออกของนายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินยูโรเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

ค่าเงินยูโรปรับตัวขึ้น 0.12% แตะที่ 1.2940 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.2924 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.23% แตะที่ 1.6073 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6036 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 0.11% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 82.370 เยน จากระดับ 82.460 เยน และอ่อนค่าลง 0.09% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9332 ฟรังค์ จากระดับ 0.9340 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียทรงตัวที่ 1.0485 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้น 0.18% แตะที่ 0.8336 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8321 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเข้าซื้อเงินยูโรเพื่อความปลอดภัยหลังจากมีข่าวว่า นายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลีจะประกาศลาออกภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าการลาออกของนายมอนติจะยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านการเงินของอิตาลีย่ำแย่ลงอีก

นอกจากนี้ เงินยูโรยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเยอรมนีและจีน โดยเยอรมนีรายงานว่า ยอดส่งออกเดือนต.ค.ดีดตัวขึ้น 0.3% หลังจากที่ร่วงลง 2.45 ในเดือนพ.ย.

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.พุ่งขึ้น 10.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี หรือเพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ขณะที่ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้นเพิ่มขึ้น 14.9% สู่ระดับ 1.85 ล้านล้านหยวนเมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งช่วยหนุนยอดค้าปลีกในช่วง 11 เดือนแรกทะยานขึ้น 14.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 18.68 ล้านล้านหยวน

สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียย่ำฐานทรงตัว หลังจากธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 3.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุมครั้งล่าสุด เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก

นายเกลน สตีเวนส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียกล่าวภายหลังการประชุมว่า สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้ อันเนื่องมาจากราคาสินค้าส่งออกปรับตัวลดลงและเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง และการที่ธนาคารกลางออสเตรเลียตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าออสเตรเลียได้รับแรงกดดันจากอัตราค่าแรง รวมทั้งยอดการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ปรับตัวลดลง และอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ