ไนท์ แฟรงค์ฯ มองคอนโดฯแนวรถไฟฟ้า-อาคารสำนักงานในกทม.ยังโตต่อเนื่องรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 10, 2013 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์ แฟรงค์ ชาร์เตอร์(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงตลาดคอนโดมิเนียมว่า ความต้องการคอนโดมิเนียมรายล้อมเส้นทางรถไฟฟ้ายังคงเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 52 ถึงกลางปี 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 54,630 หน่วย มียอดขายไปแล้วกว่า 40,006 หน่วย เหลือขายเพียง 16,424 หน่วย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่รายล้อมเส้นทางรถไฟฟ้า 4 สายคือ บี ที เอส สายสีเขียวอ่อน จำนวน 16,429 หน่วย บี ที เอส สายสีเขียวเข้ม จำนวน 9,866หน่วย เอ็ม อาร์ ที สายสีน้ำเงิน จำนวน 2,917หน่วย และเอ็ม อาร์ ที สายสีม่วง จำนวน 25,418หน่วย

สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าที่คอนโดมิเนียมขายดีที่สุด คือสายสีเขียวเข้ม โดยส่วนต่อขยายสีเขียวเข้มช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ มีจำหน่ายทั้งสิ้น4,163 หน่วย ขายไปได้ 3,477 หน่วย เหลือเพียง 686 หน่วย อัตราการขายอยู่ที่ 83.5% ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 120,196 บาท/ตารางเมตร ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเข้มช่วงวงเวียนใหญ่-ตลาดพลู มีจำนวนหน่วยทั้งสิ้น 2,508 หน่วย ขายไป 1,599 หน่วย เหลือเพียง 909 หน่วย ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 82,543 บาท/ตารางเมตร

และส่วนต่อขยายสีเขียวเข้ม ช่วงตลาดพลู-บางหว้า มีจำนวนหน่วยทั้งสิ้น 3,195 หน่วย ขายไปได้ 2,752 หน่วย เหลือเพียง 443 หน่วย ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 63,457 บาท/ตารางเมตร ซึ่งตัวเลขการเติบโตของคอนโดสูงขึ้นทุกปี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น

นายพนม กล่าวว่า จากการทำวิจัยสภาวะตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯยังคงเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อกลางปี 54 กลุ่มที่มีความต้องการปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดคือกลุ่มอาคารสำนักงานเกรดเอ โดยล่าสุดอัตราการเช่าสำนักงานในกรุงเทพฯอยู่ที่ 88.02% จากพื้นที่ทั้งหมดในปัจจุบันของสำนักงานออฟฟิศที่มีอยู่ หรือปริมาณพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพรวมอยู่ที่ 4,628,564 ตารางเมตร และในปี 57 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 200,529 ตารางเมตร ไม่รวมอาคารที่มีหลายเจ้าของและอาคารสำนักงานที่มีขนาดเล็กกว่า 5,000 เมตร

“มุมมองในอนาคตผู้เช่าควรเตรียมพร้อมรับค่าเช่าที่จะยังคงถีบตัวสูงขึ้นในย่านซีบีดีเนื่องจากอัตราการเช่าที่สูงและความต้องการที่แข็งแกร่งของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพื้นที่เกรดเอซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดการเช่าที่สำคัญตลอดทั้งปี 56 นี้...อาคารใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งหลังของปีในทำเลธุรกิจใหม่ๆอย่างเช่นรัชดาภิเษกอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้เช่า เนื่องจากอัตราค่าเช่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อาคารมีคุณภาพ สามารถเดินทางเชื่อมโยงกับทางด่วน และแนวบริการขนส่งมวลชนต่างๆ ตลอดจนห้างร้านค้าปลีก ปัจจัยทั้งหมดนี้อาจทำให้ผู้เช่าบางรายเริ่มมองว่าการอยู่ในย่านธุรกิจกลางเมืองมีประโยชน์สำหรับธุรกิจของตนจริงหรือไม่ในที่สุด" นายพนม กล่าว

ด้านนายดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาพัฒน์ พร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ กล่าวว่า จากการเปิดตัวของ AEC เชื่อว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มสำนักงานออฟฟิศ คอนโด และเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคค่อนข้างมากเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจากแหล่งงานต่างๆ ความต้องการที่อยู่อาศัยชั่วคราว ประเภท Service Apartment หรือประเภทCondo ปล่อยเช่า ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามมา ในส่วนของภาคธุรกิจความต้องการด้านพื้นที่สำนักงานเพิ่มสูงขึ้น และพื้นที่Retail ให้บริการเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายราคาที่ดินก็จะเพิ่มสูงขึ้น

“นอกจากการเปิดตัว AEC ที่ทำให้ธุรกิจอสังหาเติบโตคึกคักแล้ว ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพมหานครที่สูงขึ้น คือ ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ,สนามบิน,ศูนย์กลางธุรกิจ และแนวโน้มรายได้ประชากรที่สูงขึ้นจากการลงทุนในไทยมากขึ้น"นายดลพิวัฒน์กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ