(เพิ่มเติม1) สศค.ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 3.7% จาก 4.5%, ปีหน้าคาดโต 5.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 27, 2013 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ปรับคาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยปี 56 มาอยู่ในกรอบ 3.5-4% โดยมีค่ากลางที่ 3.7% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 4.5% เนื่องจากมองว่าการส่งออกปีนี้ไม่สามารถขยายตัวได้ตามคาดการณ์ ทั้งนี้ หากจะผลักดันให้ GDP ในปีนี้เติบโตได้ก็จะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 57 ให้เป็นไปตามแผนงาน
"ส่งออกปีนี้ โต 4% เป็นไปได้ยาก เหตุ 4 เดือนที่เหลือต้องส่งออกถึง 21,400 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน"สศค.ระบุ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค.56 สศค.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 4.0-5.0% โดยมีค่ากลางที่ 4.5%

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 56 นี้ จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.5% และเชื่อว่าจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% หากมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 57 ได้เป็นไปตามแผนของมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

สศค.มั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินจำนวนมากลงเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ตามปีปฏิทิน หรือไตรมาสแรกของปีงบ 57 ถึงแม้ว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 จะล่าช้าก็ตาม ทั้งนี้เมื่อพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 มีปัญหา อาจทำให้งบลงทุนใหม่ๆ ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ แต่งบรายจ่ายประจำยังทำได้ปกติ เช่น งบในการจัดอบรมสัมมนา งบจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่งบลงทุนใหม่

"งบประมาณที่ล่าช้าในปี 57 นี้มีผลแน่ ไม่ใช่ไม่มีผล เพราะมีผลต่องบลงทุนใหม่ๆ ที่รัฐบาลหวังว่าจะมีส่วนร่วมในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเป็นพระเอกสำคัญที่ชี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้"นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ สศค.เห็นว่าหากจะให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 4% ในปีนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งเบิกจ่ายในส่วนของรายจ่ายประจำแบบ frontload ไม่ใช่ปล่อยไปตามปกติ โดย frontload คืองบประมาณที่มีแผนจะใช้ในช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีงบประมาณ 57 แต่สามารถนำมาใช้ได้ก่อนในช่วงไตรมาส 1 ของปีงบ 57(ต.ค.-ธ.ค.56)

"เม็ดเงิน ontop เข้ามา 86,000 ล้านบาท ตัวนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีโต 4% ได้ เช่น โบนัสปี 55 โบนัสปี 54 ที่ต้องเร่งมาจ่ายในไตรมาส 4 ปีนี้ 6 พันกว่าล้าน งบจัดอบรมสัมมนาให้เริ่มจัดในไตรมาส 1 ปีงบ 57 ทำช่วงไฮซีซั่นช่วงต.ค.-ธ.ค.อีก 2,500 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษาถนนหนทางอีกกว่าหมื่นล้านบาท โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำอีก 6,800 ล้านบาท การจ้างเหมาบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคอีกหลายหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบจัดซื้อวัสดุคุรุภัณฑ์ของหน่วยราชการต่างๆ ต้องเร่งซื้อเป็นล็อตใหญ่ให้ใช้ทั้งปี ซึ่งตรงนี้จะมีอีกเป็นหมื่นล้านบาท และตัวใหญ่สุดคือเงินที่โอนให้กับ อปท. สถาบันการศึกษา เงินชดเชยชาวสวนยางพารา รวมแล้วนี่คือ 86,000 ล้านบาทที่สามารถทำได้ แต่ถ้าพ.ร.บ.งบปี 57 เสร็จเร็ว โอกาสที่จีดีพีปีนี้จะโต 4% ยิ่งเป็นไปได้ง่ายขึ้น" ผอ.สศค.ระบุ

ผอ.สศค. กล่าวว่า GDP ในปี 56 ที่ชะลอลงส่วนหนึ่งมาจากการที่เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกชะลอกว่าที่คาด โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังจากเร่งขึ้นไปมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ตามการใช้จ่ายในงบประมาณของรัฐบาลส่วนกลางและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

สำหรับการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกด้านบริการที่จะขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเกือบทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 — 2.5) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของอุปสงค์ภาคเอกชน ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอันเป็นผลมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง

ขณะที่คาดว่า GDP ในปี 57 จะเติบโตราว 4.6-5.6% โดยมีค่ากลางที่ 5.1% ขณะที่ส่งออกเติบโต 6.5-8.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำที่สนับสนุนให้เกิดการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะเดียวกันมีแรงกระตุ้นจากการเบิกจ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีหน้าจะอยู่ในช่วง 2.3-3.3% หลังจากอุปสงค์ภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น

นายสมชัย ยังกล่าวถึงด้านเสถียรภาพภายในประเทศว่า ในปี 57 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 2.8% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3% อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในปี 57 อย่างใกล้ชิด เช่น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนของไทย ภัยธรรมชาติและโรคระบาด ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม อีกทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะเป็นไปตามเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ