นายกฯ วอนทุกฝ่ายกลับเข้าระบบเพื่อหยุดความเสียโอกาสในมิติเชื่อมโยงตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 26, 2014 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คว่า เสถียรภาพทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตย และความต่อเนื่องในการบริหารราชการ มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมิติที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โอกาสที่เสียไปแล้วจะนำกลับคืนมาได้ยาก ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคือหยุดความเสียโอกาสและความเสียหายไว้เพียงเท่านี้ โดยการกลับเข้าสู่ระบบและกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า วันนี้มีโอกาสได้พบกับนายหรรษ วรรณ ศฤงคลา เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ที่ได้มาเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ จึงได้มีโอกาสพูดคุย หารือกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะการริเริ่มความร่วมมือ เช่น ในด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการเยือนในระดับผู้นำระหว่างกันหลายครั้ง ทำให้ความร่วมมือในหลายด้าน มีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ

ประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือ ได้แก่ ความคืบหน้าในโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางถนน ระหว่างไทย เมียนมา อินเดีย (Trilateral Highway) ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมการการลงทุนระหว่างกันนั้น ได้มีความคืบหน้าอย่างมากโดยกำหนดเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน มีการชะลอความก้าวหน้าเนื่องจากขาดการผลักดันในระดับนโยบายโดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยที่ยังไม่มีรัฐบาลอำนาจเต็ม จึงทำให้การประชุม หารือ หรือการตัดสินใจในระดับรัฐมนตรี มีความล่าช้า ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายเพราะเส้นทางนี้ จะสามารถส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันได้เป็นอย่างดีค่ะ

อีกประเด็นหนึ่ง คือ โครงการท่าเรือนำลึกทวายที่ไทยให้การสนับสนุนตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทางรัฐบาลได้มีแผนการเชื่อมโยงทวายกับท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านการลงทุนในถนน และรถไฟ ภายใต้แผนการลงทุน โครงการ 2 ล้านล้าน โดยหากโครงการนี้สำเร็จ ทวายจะกลายเป็นอีกหนึ่งประตูเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งใหม่ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำผ่านมหาสมุทรอินเดีย สู่ประเทศอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการค้าการลงทุน ส่งเสริมให้เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตในระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของการประหยัดต้นทุนและเวลาในการขนส่ง เพราะสามารถช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพไปทวายและเข้าเจนไน (Chennai) เหลือเพียงครึ่งเดียว เพราะไม่จำเป็นต้องเดินเรืออ้อมประเทศสิงคโปร์ ผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งมีการจราจรที่คับคั่ง แต่ทว่า ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

อีกประเด็นหนึ่งที่ถือว่าเป็นค่าเสียโอกาสของทั้งไทย และอินเดียคือ ความคืบหน้าในการเจรจา FTA ไทย-อินเดีย ที่ได้ลงนามไปแล้วในปี 2546 โดยในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องสินค้าที่ยังไม่ได้มีการปรับลดภาษี แม้ว่า สองฝ่ายมีนโยบายที่สอดคล้องกันว่าควรจะผลักดันให้ข้อตกลงได้ข้อสรุปโดยเร็ว แต่ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้เพียงในระดับเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก กระบวนการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลของประเทศไทยยังไม่เรียบร้อย ก็จะไม่สามารถเข้ากระบวนการการอนุมัติลงนามได้ จึงทำให้ผลการเจรจาล่าช้าออกไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ