BOI มั่นใจอนุมัติโครงการคั่งค้างหมดใน 3-4 เดือนหลังตั้งบอร์ดตามมติครม.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 3, 2014 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะนำเสนอรายชื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้แก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อให้พิจารณาลงนามแต่งตั้งบอร์ดบีโอไอ ซึ่งจะทำให้สามารถเดินหน้าอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ ที่ได้มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนและรอการพิจารณากว่า 400 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 660,000 ล้านบาท

อนึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 57 เห็นชอบตามข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สามารถดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ชุดใหม่ได้ ซึ่งครม.มีมติตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ให้สามารถแต่งตั้งบอร์ดบีโอไอได้ โดยไม่เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ ในการจำกัดอำนาจของคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงยุบสภา

"ในเบื้องต้นบอร์ดบีโอไอชุดที่จะตั้งขึ้นใหม่จะมุ่งเน้นเฉพาะการเข้ามาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดภาวะการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน และให้โครงการต่างๆ ที่ยื่นขอรับส่งเสริมไว้สามารถวางแผนและเดินหน้าโครงการได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน"นายประเสริฐกล่าว

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ทันทีที่มีการแต่งตั้งบอร์ดบีโอไอ ซึ่งจะเสนอให้มีการประชุมมากกว่าปกติ เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการขอส่งเสริมการลงทุนให้เร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะสามารถพิจารณาอนุมัติโครงการที่ค้างอยู่ได้ภายใน 3-4 เดือน

ขณะนี้มีโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียน) อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจำนวนมาก และล่าสุดได้รวมถึงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ในโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์ ระยะที่ 2) ที่มีจำนวน 10 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 138,889.8 ล้านบาท กำลังการผลิตรถยนต์รวม 1,581,000 คัน

ภายหลังจากการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตามโครงการอีโคคาร์แล้ว หลังจากนี้บีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ บีโอไอ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อร่วมกันทำหน้าที่พิจารณารายละเอียดประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ตามประกาศของการดำเนินโครงการ อาทิ เรื่องมาตรฐาน เงื่อนไขการผลิต รวมถึงเรื่องภาษีสรรพสามิต ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน และบอร์ดบีโอไอพิจารณาต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์รายเดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการอีโคคาร์ ระยะที่ 1 ทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ และซูซูกิ กำลังการผลิตรถยนต์รวม 828,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 52,079.7 ล้านบาท ขณะที่เป็นการลงทุนของค่ายรถยนต์รายใหม่ จำนวน 5 ราย กำลังการผลิตรถยนต์รวม 753,000 คัน เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 86,810.1 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ