บสย.ผนึก 19 สถาบันการเงินโครงการค้ำประกัน"OTOP-วิสาหกิจชุมชน-รายย่อย"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 28, 2014 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ 19 สถาบันการเงินในโครงการค้ำประกันกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อย ในวงเงินค้ำประกันรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผลักดันโอกาสในการขับเคลื่อนและร่วมกันส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการ OTOP รวมกันกว่า 36,000 ราย ส่วนภาคเศรษฐกิจชุมชนยังมีกิจการวิสาหกิจชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้มีการจดทะเบียนไปแล้วกว่า 72,000 แห่ง รวมสมาชิกกว่า 1.3 ล้านราย

"บสย.ภูมิใจที่มีส่วนในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ OTOP วิสาหกิจชุมชน และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ ทำให้เฟืองเล็กๆสามารถขับเคลื่อนได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆเดินหน้าไปพร้อมกันได้ โดยทางบสย.จะเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงให้ ซึ่งทำให้ทางแบงก์มีความมั่นใจในการให้สินเชื่อ บสย.จะจ่ายเงินค้ำประกันให้ผู้ประกอบการรายย่อย 50% ของวงเงินเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 18% และผู้ประกอบการ OTOP บสย.จะจ่ายเงินค้ำประกันให้ 25% เมื่อเกิดความเสียหาย"นายวัลลภ กล่าว

สำหรับกรอบความช่วยเหลือ ประกอบด้วย 1.กลุ่ม OTOP และวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศจะต้องที่มีหนังสือรับรองการลงทะเบียนผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP หรือ เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีหนังสือแสดงการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่าย (ทวช.002) ที่ยังไม่หมดอายุ โดย บสย.ค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก ปีถัดไปคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.5 บาท ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน โดยมีวงเงินค้ำประกันของทั้งโครงการ 10,000 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรือ จนกว่าวงเงินค้ำประกันครบ แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อนอีกด้วย

ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย(Micro Entrepreneurs) วงเงินค้ำประกันรวม 5,000 ล้านบาท รัฐบาลจ่ายเงินค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก และบสย.ค้ำประกันวงเงินไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน) โดยยังได้ขยายการค้ำประกันวงเงินกู้แต่ละรายถึง 10 ปี

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่ บสย.กับสถาบันการเงินทั้ง 19 แห่งร่วมมือการในโครงการดังกล่าว เป็นส่วนช่วยให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวองประเทศไปข้างหน้า เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินใหม่ๆเข้ามาหมุนเวียนในระบบ และขับเคลื่อนกิจการไปพร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศ

"โครงการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาได้ในไม่นาน เพราะผู้ประกอบการรายย่อยในบ้านเราเป็ยส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการทำโครงการนี้ก็ทำให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ่น ทำให้มีเม็ดเงินใหม่ๆเข้ามาหมุนในระบบ และทำให้ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนธุรกิจตัวเองได้ และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยเช่นกัน"นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ