ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกนง.6 ส.ค.คงดอกเบี้ยรอประเมินทิศทางศก.ระยะข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 4, 2014 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมรอบที่ 5 ของปี ในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มปรากฎสัญญาณของการฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองและการดำเนินมาตรการต่างๆของภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น แต่การที่เครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการยังคงมีทิศทางที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ น่าจะส่งผลให้ กนง. สามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อประเมินทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคซึ่งปรับดีขึ้น หลังจากที่ปัจจัยทางการเมืองกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง ขณะที่การส่งออกก็เริ่มได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยูโรโซน อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้เดิม ในขณะที่การท่องเที่ยวยังคงมีทิศทางที่อ่อนแอ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังให้ภาพที่ทรงตัวจากไตรมาสก่อนจากการที่ผู้ประกอบการรอประเมินความชัดเจนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวนโยบายภาครัฐ ส่งผลให้ ธปท.ตัดสินใจรอพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนหน้าอีกระยะ เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งคงจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต

ในขณะที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 2.16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) เพิ่มขึ้น 1.81% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับอานิสงค์จากนโยบายในการตรึงราคาพลังงานบางส่วนและการดูแลค่าครองชีพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล จึงน่าจะส่งผลให้ กนง.มีพื้นที่ในการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ แม้ว่ามุมมองของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะปรับเริ่มตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยความคาดหวังต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาทที่ผ่านความเห็นชอบจาก คสช. น่าจะช่วงสร้างมุมมองเชิงบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเป็นอีกปัจจัยที่คงส่งผลต่อการเริ่มต้นของวัฏจักรการลงทุนของไทยรอบใหม่ให้ทยอยกลับมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามในเรื่องความชัดเจนของโครงการลงทุนต่างๆ และการผลักดันเม็ดเงินลงทุนลงสู่ระบบเศรษฐกิจในทางปฏิบัติ ตลอดจนแนวทางของรัฐบาลในการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งอาจนำมาสู่การปรับขึ้นอัตราภาษีหลายประเภท อันกระทบต่อการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องได้

ส่วนด้านการส่งออกนั้น คงต้องจับตาพัฒนาการของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน ว่าจะมีการขยายตัวขึ้นมากน้อยเพียงไร สำหรับปัจจัยเงินเฟ้อนั้น คงจะต้องติดตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศ รวมทั้ง แผนการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานของ คสช. ที่อาจกระทบต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจสร้างความผันผวนของกระแสเงินทุนรอบใหม่ หลังจากที่เฟดได้ส่งสัญญาณถึงการสิ้นสุดมาตรการซื้อสินทรัพย์ในเดือนตุลาคมนี้ ตลาดการเงิน คงจะติดตามถึงการส่งสัญญาณในการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในช่วงข้างหน้า

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนคาดการณ์ของตลาดคงจะสร้างความผันผวนของการเคลื่อนย้ายกระแสเงินทุน เมื่อกอปรกับ กระแสการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางบางประเทศในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ได้เริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา อันจะส่งผลให้ส่วนต่างของผลตอบแทนของพันธบัตรไทยกับประเทศเหล่านั้นต่างกันมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจจะกระทบต่อความต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ และคงเป็นอีกปัจจัยที่ กนง. คงจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะเกี่ยวพันไปถึงประเด็นด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน สภาพคล่องของตลาดการเงิน รวมถึงทิศทางผลตอบแทนในระบบ ท่ามกลางแนวโน้มที่ภาครัฐและเอกชนน่าจะมีแผนการระดมทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ กนง.จะต้องประเมินแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพียงพอที่จะกระตุ้นการออมในภาพรวมให้มีระดับเหมาะสมและสามารถรองรับการลงทุนที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าได้ ในขณะที่ต้องไม่เป็นการสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากจนเกินไปในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยซึ่งประสบปัญหาข้อจำกัดด้านความสามารถในการชำระหนี้ จนอาจวกกลับมาส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ผ่านการชะลอตัวของการบริโภค ปัญหาคุณภาพหนี้ของสถาบันการเงิน รวมทั้ง เสถียรภาพของเศรษฐกิจในที่สุด

"ในระยะข้างหน้า กนง.คงจะเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น ทั้งจากปัจจัยเฉพาะหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ตลอดจน ประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน และการออมในภาพรวมที่ลดลง" เอกสารศูนย์วิจัย ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ