พาณิชย์เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. เพิ่มสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 17, 2014 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 3,374 ราย เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ รายได้และโอกาสหางานทำ ในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2557 มีค่า 44.0 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีค่า 41.4 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 47.8 ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกรายการมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะยังต่ำกว่าระดับ 50 ก็ตาม สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่คาดหวังว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะดีขึ้นจากการที่บ้านเมืองมีความสงบโดยการบริหารจัดการของ คสช.เริ่มมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชน นักลงทุน และนักท่องเที่ยว อีกทั้งการลดราคาน้ำมันขายปลีกเบนซินลงช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

แต่ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและการที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะราคาลำไยและยางพาราที่ต่ำสุดในรอบหลายปี ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีแนวโน้มที่แน่นอนในการฟื้นตัว ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทย

สำหรับความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 50.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 16 เดือน ซึ่งค่าดังกล่าวสูงกว่าที่ระดับ 50 แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต เนื่องจากการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช.รวมทั้งการวางนโยบายต่างๆ และการจัดสรรงบประมาณปี 2558 ที่เป็นไปตามปกติ ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ และรถยนต์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีความกังวลในภาวะค่าครองชีพ จากการที่สินค้าทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ