นักวิชาการชี้ประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำเป็นปัญหาโครงสร้างจาก 7 สาเหตุสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 22, 2014 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา ระบุประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจาก 7 สาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ โดยเสนอทางออกด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ในภูมิภาค

"เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หากสามารถยกระดับประสิทธิภาพแรงงานไทยได้ทุกอย่างจะดีตามกันมา เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่น่าสนใจกว่าตัวเลข GDP" นายเศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าว

ปัจจุบัน ประสิทธิภาพแรงงานของไทยเพิ่มขึ้นน้อยมากราว 2% ต่อปี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 3% เวียดนามเพิ่มขึ้น 4% และจีนเพิ่มขึ้น 10% ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน หากเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตของไทยจะสูงขึ้นราว 3% ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียถูกลง 12% ฟิลิปปินส์ลดลง 26%

สาเหตุ 7 ประการที่ทำให้ประสิทธิภาพแรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ 1.การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำเพียง 84% ของระดับการลงทุนก่อนเกิดวิกฤติปี 40 โดยงบลงทุนของรัฐบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนเฉลี่ย 19% ของงบประมาณทั้งหมด, 2.กระบวนการผลิตสินค้าไม่มีการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์, 3.การผลิตแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด, 4.แรงงานภาคเกษตรที่มีสัดส่วนถึง 40% มีประสิทธิภาพต่ำ เพราะไม่มีการพัฒนาเรื่องเครื่องจักรและเทคโนโลยี, 5.แรงงานย้ายออกจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมสูงลดลง, 6.ลูกจ้างในบริษัทเอกชนขนาดเล็กกว่า 10 คนมีมากถึง 40% ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนเครื่องจักรและการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ 7.สัดส่วนแรงงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือนในภาคเอกชนมีเพียง 1 ใน 6 ทำให้มีการลงทุนเรื่องการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานน้อย

สำหรับแนวทางการแก้ไขนั้น ได้แก่ 1.การเพิ่มวงเงินลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้เกิดขึ้นตามมา, 2.ปรับปรุงภาควิชาการผลิตผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ธุรกิจที่จะนำไปสู่การยกระดับมูลค่าผลผลิต, 3.ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะตามความต้องการของตลาด, 4.ลดการใช้นโยบายบิดเบือนราคาสินค้าเกษตร, 5.สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และ 6.เพิ่มมาตรการจูงใจการฝึกอบรมแรงงานที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อย

"การแก้ไขปัญหาไม่ยั่งยืน เพราะการเมืองขาดเสถียรภาพ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนรัฐบาลถึง 6 ชุด นโยบายที่ประกาศออกมาก็ยังทำไม่สำเร็จ จากนี้ไปถ้ามีผลงานที่เป็นชิ้นโบว์แดงที่ดีจริง ใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องสานต่อ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการ" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า การพัฒนาแรงงานต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ใกล้เคียงกันรูปแบบคลัสเตอร์ที่จะบูรณาการการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ