(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.79.2ลดครั้งแรกรอบ 5เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 2, 2014 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.57 อยู่ที่ 79.2 ลดลงจาก 80.1 ในเดือน ส.ค.57 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.2 ลดลงจาก 70.1 ในเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 72.9 ลดลงจาก 73.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 95.5 ลดลงจาก 96.4 โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกรายการ และเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ค.57

การปรับลดลงของดัชนีมาจากปัจจัยลบ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 57 เหลือเติบโต 1.5% และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือ 4.8% จากเดิมคาดโต 5.5%, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 1.6-2.0% จากเดิม 1.5-2.5% เนื่องจากมองว่าการส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ ยอดส่งออก ส.ค.ลดลง 7.4% และเงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้า และความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ การแถลงนโยบายรัฐบาลส่งผลจิตวิทยาเชิงบวกสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักลงทุน, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อปี และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับทรงตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.57 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นและเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว เป็นผลจากราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะยางพาราและข้าว นอกจากนั้น การส่งออกและการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดไว้ จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลรายได้ของตัวเองในอนาคต

“คนมองว่าเศรษฐกิจในเดือนก.ย.ยังไม่โดดเด่น ความต้องการซื้อบ้าน ซื้อรถจึงยังไม่ค่อยเด่น และเมื่อคนมองว่าเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่ค่อยดี จึงกังวลว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะดีหรือไม่ จึงเริ่มมีมุมมองที่ไม่แน่ใจต่อเศรษฐกิจในอนาคตมากนัก ทำให้ความเชื่อมั่นในก.ย.ปรับตัวลง แต่ไม่หนักหนาสาหัส เพราะปรับลงไม่ถึง 1 จุด" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าการบริโภคอาจยังฟื้นไม่มากนักในระยะนี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นไม่ได้สูงขึ้น แต่การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในต้นเดือนต.ค.ทั้งการลดต้นทุนให้แก่ชาวนาในวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท และการเร่งอัดฉีดงบประมาณอีกกว่า 3 แสนล้านบาทเพื่อสร้างงานและทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นนั้น จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 4/57 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินเข้าสู่มือประชาชนอย่างรวดเร็วและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 1.5-2.0% ในปีนี้

“ตอนนี้เศรษฐกิจซึมตัว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจึงเปลี่ยนทิศทางกลับมาเป็นขาลง แต่เป็นจังหวะดีที่ขาลงนี้จะพลิกฟื้นกลับได้ง่าย เพราะรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเมื่อวาน ถือว่าทันเวลา ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนหน้า(ต.ค.) จะเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจจะเงยหัวขึ้นมาหรือไม่ และในช่วงไตรมาส 4 จะสามารถดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นกลับมาเร็ว และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 58 อย่างไร" นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้ว เชื่อว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเริ่มเป็นขาขึ้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้ไปเช่นกัน ซึ่งจะเป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 เติบโตได้มากน้อยเพียงใด และกำลังซื้อของประชาชนจะกลับมาเร็วหรือไม่ และหากการส่งออกและการท่องเที่ยวพลิกฟื้นกลับมาเร็วขึ้นก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ใกล้เคียงกับระดับ 2%

“แรงเหวี่ยงที่สำคัญคือความเชื่อมั่นฯ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยโต 4% ได้ง่ายหรือไม่ ถ้าความเชื่อมั่นฯ กลับมาเร็วในช่วง พ.ย.-ธ.ค.นี้ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็จะมีการลงทุนกลับเข้ามา และมีผลต่อเศรษฐกิจในปีหน้า" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับผลการสำรวจดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในเดือน ก.ย.นี้พบว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 89 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนพ.ค.49 เป็นต้นมา โดยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 91.8 เมื่อเทียบกับระดับ 87.5 ในเดือนส.ค.ขณะที่การคาดหวังต่อสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 3 เดือนหน้านั้น ประชาชนมองว่าสถานการณ์การเมืองจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 102.3 ซึ่งถือว่าเกิน 100 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทำการสำรวจเมื่อเดือนพ.ค.49 เป็นต้นมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ