(เพิ่มเติม) กพช.เปิดให้เอกชนยื่นสัมปทานปิโตรเลียมทั้งบนบก-ในทะเล 29 แปลงใน 18 ก.พ.58

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2014 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ทั้งบนบก-ในทะเล รวม 29 แปลง โดยเปิดให้เอกชนยื่นภายใน 18 ก.พ.58 โดยระบุว่า เพื่อเป็นทางออกในการลดความเสี่ยงด้านวิกฤติพลังงาน

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากที่ไทยต้องนำเข้าพลังงานมูลค่าปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 85% และก๊าซธรรมชาติประมาณ 15% ของความต้องการใช้ภายในประเทศ ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้าต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติเกือบ 70% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตทั้งหมดของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับปริมาณสำรองที่ต่ำลงเรื่อยๆ หากไม่สามารถจัดหาปริมาณสำรองเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ ไทยอาจต้องเผชิญกับวิกฤติพลังงาน หรือต้องสูญเสียเงินตราในการนำเข้าพลังงานในรูปแบบอื่นที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง

ดังนั้น เพื่อเป็นทางออกของประเทศโดยการเพิ่มโอกาสในการค้นหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงได้ประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย รวม 29 แปลง

ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง แบ่งเป็น ภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง พื้นที่ 5,458.91 ตารางกม. และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แปลง พื้นที่ 49,196.40 ตารางกม. ส่วนแปลงในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง พื้นที่ 11,808.20 ตารางกม.

โดยการประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งนี้ ผู้สนใจซึ่งต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย คือ เป็นบริษัทที่มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม สามารถยื่นเอกสารหลักฐานตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลสำรวจบนบก และในทะเลอ่าวไทยต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ณ ที่ทำการภายในวันที่ 18 ก.พ.58 (รวมระยะเวลา 120 วัน นับจากวันลงนามในประกาศ) หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

สำหรับความแตกต่างของการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งนี้ กับการเปิดสัมปทานที่ผ่านมาคือ การหลีกเลี่ยงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A เขตอนุรักษ์และรักษาพันธ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยใช้ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส ซึ่งเพิ่มผลประโยชน์จากระบบไทยแลนด์ทรีเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2532 ประกอบด้วย

การเก็บค่าภาคหลวงในอัตรา 5-15% จากรายได้การขายปิโตรเลียม, เก็บเงินภาษีเงินได้ 50% จากกำไรสุทธิ, การเรียกเก็บเงินผลตอบแทนพิเศษ หรือ Special Remuneratory Benefit (SRB) เมื่อมีกำไรหลังคืนทุนแล้ว หรือเมื่อราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงตามหลักเกณฑ์ที่รับกำหนด, การสนับสนุนเงินเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น (ช่วงสำรวจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านบาท และช่วงผลิตจะได้ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านบาท) และเสนอให้บริษัทไทยเข้าร่วมประกอบกิจการในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และที่สำคัญต้องใช้สินค้าและบริการในประเทศของเราเป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส จะจัดเก็บผลประโยชน์เพิ่มเติมถึง 2 ส่วนสำคัญ คือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือ Signature Bonus เมื่อมีการลงนามกับเอกชนที่ได้รับสัมปทาน แม้ว่าจะสำรวจพบปิโตรเลียมหรือไม่ และการเรียกเก็บผลประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเอกชนสามารถผลิตได้ตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด หรือ Production Bonus

นายคุรุจิต กล่าวว่า สำหรับผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้แก่ 1. หากมีผู้มายื่นขอทุกแปลงที่เปิดให้มีการยื่นขอครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท(จากข้อผูกพันขั้นต่ำที่กำหนดเงื่อนไขในสัมปทาน)

2.การสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศในรูปแบบค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ผลประโยชน์โบนัสพิเศษในเงื่อนไขต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่น (อบจ., อบต.) ในพื้นที่ผลิตโดยตรง ตลอดจนการจ้างงานในธุรกิจสำรวจและผลิต รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20,000 อัตรา

3. การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะหากสามารถเดินหน้าให้สิทธิสำรวจและปิโตรเลียม และมีผู้สนใจลงทุนและได้รับสิทธิตามการเชิญชวนครั้งนี้ ประเทศไทยมีโอกาสค้นพบก๊าซธรรมชาติ 1-5 ล้าน ลบ.ฟ. และน้ำมันดิบ 20-50 ล้านบาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ