ประธานสรรหาฯ คาดได้ตัวผู้ว่ารฟม.คนใหม่ม.ค. 58 ยันกระบวนการโปร่งใส-เป็นธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2014 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ รฟม. เปิดเผยว่า การสรรหาผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ จะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ม.ค.2558 โดยจะเข้าสู่กระบวนการเจรจาค่าตอบแทน และนำเสนอกระทรวงการคลังได้ในวันที่ 1 ก.พ.2558 โดยยืนยันว่ากระบวนการสรรหาเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม โดยจะเปิดให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของ รฟม. ในการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ ความรู้ความชำนาญ มารับตำแหน่ง

นอกจากนี้ ผู้สมัครจะต้องเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ เป็นผู้บริหารเบอร์ 2 ขึ้นไป หากมาจากภาคเอกชน จะต้องเป็นองค์กรที่มีกำไรมากกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท แต่ในส่วนของรักษาการ รฟม.คงไม่สามารถมาสมัครได้ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงเรื่องให้คุณให้โทษ อาจทำให้ผู้สมัครรายอื่นเกิดการเสียเปรียบ

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเหมือนกับการสรรหาผู้ว่า รฟม.ที่ผ่านมา เพราะคณะกรรมการสรรหา มีการกำหนดระเบียบ เงื่อนไขที่กำหนด ตามข้อกฎหมายอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯรฟม.คนใหม่จะต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน และอีก 4 เส้นทาง คือ สายสีเขียว 5.2 หมื่นล้านบาท สายสีส้ม 7 หมื่นล้านบาท สายสีชมพู 5 หมื่นล้านบาท และสายสีเหลือง 5 หมื่นล้านบาท รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะต้องเริ่มทยอยดำเนินการให้ได้ภายในปี 2558

“เป็นหน้าที่ที่ผู้ว่าการ รฟท.คนใหม่จะต้องทำให้ได้ตามเงื่อนไข สามารถผลักดันรถไฟฟ้าสายต่างๆให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งคงเป็นการทยอยลงทุนเฉลี่ยปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยคณะกรรมการประเมินผลงาน จะติดตาม และประเมินผลปีละ 2 ครั้ง หากทำไม่ได้ตามที่ตกลง โครงการใดมีความล่าช้า ไม่สามารถเปิดประกวดราคาได้ ผู้ว่าฯก็ต้องออกไป"นายพงษ์ภาณุ กล่าว

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2558 ยังมีโครงการรถไฟฟ้าที่ครบสัญญากู้เงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา แหล่งเงินทุน ซึ่งคาดว่าใช้แหล่งเงินจากในประเทศจากนักลงทุนและสถาบันการเงิน เป็นการกู้ระยะยาว 5-10 ปี หรืออาจจะกู้จากสถาบันการเงิน หรือองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศก็ได้ ซึ่งที่มีผ่านมามีความสนใจที่จะปล่อยกู้ให้กับไทยอยู่บ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ