ธปท.เผยเศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้นทุกสาขาแต่ยังฟื้นช้า-ส่งออกเริ่มโงหัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 28, 2014 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 57 โดยระบุว่า เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในทุกสาขา การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ภาครัฐสามารถเร่งการใช้จ่าย และการส่งออกสินค้าขยายตัวชัดเจน โดยเป็นผลจากอุปสงค์โลกที่กระเตื้องขึ้น ประกอบกับ ปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าของกลุ่มประเทศยุโรปก่อนการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP)ที่ให้กับประเทศไทย สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากเดือนก่อนสอดคล้องกับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างช้าๆ

ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากทั้งดุลการค้าและดุลบริการฯ ซึ่งช่วยชดเชยการขาดดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย และการขายพันธบัตรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ในภาพรวมดุลการชำระเงินค่อนข้างสมดุล สัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

สำหรับอุปสงค์ภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกำลังซื้อของครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูง อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการเร่งซื้อรถยนต์ไปมาก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้ครัวเรือนยังค่อนข้างระมัดระวังการใช้จ่าย และกำลังซื้อของครัวเรือนในภูมิภาคโดยเฉพาะภาคใต้ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนทั้งการลงทุนในหมวดก่อสร้างและหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการก่อสร้างอาคารชุดในแนวรถไฟฟ้า การขยายสาขาในเขตภูมิภาคของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ และการลงทุนของธุรกิจโทรคมนาคม สอดคล้องกับแนวโน้มการขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง อย่างไรก็ดี หลายอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่พอสมควร การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตจึงยังอยู่ในระดับต่ำ

นางรุ่ง กล่าวว่า แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งในด้านการซื้อสินค้าและบริการและโครงการลงทุน สำหรับรายได้รัฐบาลลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่จากภาษีฐานรายได้เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ และภาษีเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตยังหดตัวมากจากการเร่งซื้อรถยนต์ไปในช่วงโครงการรถยนต์คันแรก

ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวเอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อสถานการณ์การเมืองของไทย อีกทั้งได้รับผลดีจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าเป็นการชั่วคราว และนักท่องเที่ยวมาเลเซียหลังทางการไทยผ่อนผันให้รถโดยสารเอกชนจากมาเลเซียสามารถออกนอกพื้นที่จังหวัดสงขลาได้ถึงสิ้นเดือนตุลาคม อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรปและอเมริกายังไม่ชัดเจน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่วางแผนการเดินทางล่วงหน้าเป็นเวลานาน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว

คำสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศอาเซียนที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าของกลุ่มประเทศยุโรปก่อนการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี(GSP)ในปีหน้า ทำให้การส่งออกสินค้าขยายตัวค่อนข้างดีจากเดือนก่อน และจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และปิโตรเคมี ส่วนการนำเข้าสินค้าลดลงบ้างหลังจากที่เร่งขึ้นมากในเดือนก่อน แต่ในภาพรวมแนวโน้มการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค มีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ

อุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น การเร่งผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ตามการวางแผนการผลิตของผู้ประกอบการก่อนช่วงสิ้นปีที่มีวันทำการน้อย และการผลิตเพื่อตลาดในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

รายได้เกษตรกรเป็นปัจจัยลดทอนการบริโภคของครัวเรือน โดยราคาสินค้าเกษตรต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน จากราคายางพาราที่ผู้นำเข้ารายใหญ่โดยเฉพาะจีนลดคำสั่งซื้อตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และราคาข้าวหลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำ ประกอบกับอุปทานในตลาดเพิ่มขึ้นจากการระบายข้าวในสต็อกของทางการ อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่ปรับฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามผลผลิตข้าวและข้าวโพด เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น ขณะที่ราคาค่อนข้างทรงตัว

ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาอาหารสด เพราะผลผลิตเนื้อสัตว์และไข่ไก่ออกสู่ตลาดมาก และราคาพลังงานหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนไทย ประกอบกับการขายพันธบัตรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมดุลการชำระเงินใกล้สมดุล สัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ