จับตา กนง.รอบสุดท้ายปี 57 โบรกฯ-แบงก์ลุ้นโอกาสคงหรือลดดอกเบี้ยนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 16, 2014 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจเสียงแตก ประเมินการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รอบ 17 ธ.ค.นี้ มีโอกาสทั้งลดดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยนโยบาย โดยฝ่ายคาดคงดอกเบี้ยมองว่าระดับปัจจุบันถือว่าต่ำแล้ว และการปรับลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาได้มาก แนะรอความชัดเจนตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4/57 ก่อนตัดสินใจก็ยังไม่สาย ส่วนฝ่ายคาดลดดอกเบี้ยชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าคาด-ไร้แรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อ เอื้อต่อการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม

                    สถาบัน                        มติ กนง.        อัตราดอกเบี้ยใหม่
          บล.กรุงศรี                                 คง               2.00%
          ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชย์          คง               2.00%
          บล.ภัทร                                   คง               2.00%
          บล.ฟินันเซีย ไซรัส                           คง               2.00%
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                            ลด               1.75%
          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธ.ทหารไทย              ลด               1.75%
          บล.ธนชาต                                 ลด               1.75%                 ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

          บล.กรุงศรี ระบุว่า ตามที่ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาประเมิน GDP ไทยปีนี้เท่ากับ 0.8% แต่ปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 3.8-4.8% ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคส่งออกที่คาดจะฟื้นมาขยายตัว 2-4% จากปีนี้คาดหดตัว 0.1% ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศหลักบางประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าคาดและดอกเบี้ยโลกอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น กนง.อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ในระยะถัดไป
          จากการวิเคราะห์ถ้อยแถลงจากการประชุม กนง.ที่มีการลดดอกเบี้ย 4 ครั้งหลังสุด(17 ต.ค.55, 28-29 พ.ค.56, 27 พ.ย.56 และ 12 มี.ค.57)พบว่าการตัดสินใจของ กนง.ให้น้ำหนักกับ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เศรษฐกิจโลก 2.เงินเฟ้อ 3.อุปสงค์ในประเทศหรือการบริโภค
          หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่าปัจจัยที่ 1 และ 2 น่าจะมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ กนง.พิจารณาลดดอกเบี้ย กล่าวคือ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าที่เคยประเมิน และจะมีผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกของไทยที่มีสัดส่วน 70% ของ GDP สำหรับเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดต่ำลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ โดยเงินเฟ้อเดือน พ.ย.57 เพิ่มขึ้นเพียง 1.26% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี เพราะฉะนั้นหาก กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ย ก็ยังทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง(Real rate)เป็นบวกต่อไป
          ปัจจัยที่ 3.การบริโภคในประเทศ ซึ่งมักเคลื่อนไหวล้อไปกับราคาพืชผลทางการเกษตร(มีผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกร) ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม เราเชื่อว่า กนง.จะรอดูความชัดเจนก่อน เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4/57 เช่น การขึ้นเงินเดือนข้าราชการและมาตรการช่วยเหลือชาวนาผู้มีรายได้น้อย(1,000 บาท/ไร่)เป็นต้น
          ดังนั้น เราคาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ในการประชุมวันที่ 17 ธ.ค.นี้ และประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยราว 0.25% ภายในไตรมาส 1/58 ที่ กนง.จะประชุมอีก 2 ครั้งคือ 28 ม.ค.58 และ 11 มี.ค.58 โดยเฉพาะหาก GDP ไทยในไตรมาส 4/57 ซึ่งจะประกาศวันที่ 16 ก.พ.58 ออกมาต่ำกว่าคาด(ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีประเมินเบื้องต้นที่ราว 2.5-3%) ก็มีโอกาสสูงที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มี.ค.58
          ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ระดับ 2.0% จนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งนโยบายการเงินยังมีความจำเป็นต้องผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับไม่สูงนักราว 2.2% แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์ที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศสามารถขยายตัวได้ค่อนข้างดี และอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างสูง
          ทั้งนี้ มองว่ามีอีกหลายปัจจัยที่อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเริ่มปรับขึ้นในปี 58 ปัจจัยหลักมาจาก 1.แนวโน้ม
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยใกล้เคียงศักยภาพมากขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงการลงทุนจากภาครัฐที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นหลังจากมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
          2.แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินนี้จะอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องพบกับภาวะเงินทุนไหลออกอีกครั้งหนึ่ง
          "ทั้ง 2 เหตุผลนี้ทำให้ EIC ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเริ่มปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 58 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจน และเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะเริ่มเร่งขึ้นไปถึงระดับราว 2% ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า"
          พร้อมแนะว่าผู้ประกอบการและภาคธุรกิจควรเตรียมรับมือกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.25-2.50% ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าด้วย
          นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.ภัทร ประเมินว่า การประชุมรอบนี้ กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% เช่นเดิม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่เป็นแรงกดดันให้ กนง.ต้องตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยมองว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ไปจนถึงปลายปี 58 ซึ่งในช่วงเวลานั้นหากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ดี ก็คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เท่านั้นในช่วงปลายปีหน้า
          แต่นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะปรับลดลง เนื่องจากตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าที่ระดับ 4% ยังถือว่ามีความท้าทายอีกหลายปัจจัยที่อาจจะไมเป็นไปตามคาด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้ออาจต่ำกว่าที่คาด ซึ่งคงต้องจับตาในช่วง 2 เดือนแรกของปี 58 ด้วย
          ดังนั้น กนง.ควรจะใช้จังหวะในรอบการประชุมที่จะมีขึ้นวันที่ 17 ธ.ค.นี้ พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพราะหากธนาคารกลางสหรัฐ(FED)ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า เราจะไม่มีโอกาสทำอะไรได้ แต่ทั้งนี้หากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงจริง ในขณะที่ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ย่อมจะเกิดความผันผวนในการเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมทั้งส่งผลต่อค่าเงินบาทด้วย ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากต่อการตัดสินใจของ กนง.ในครั้งนี้
          "ทั้ง 2 โจทย์นี้ถือเป็นโจทย์ที่ยากของ ธปท. อาจจะต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยเพิ่มเติมว่าเราจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่...เรื่องดอกเบี้ยคงไม่สามารถตอบโจทย์ทุกโจทย์ได้ อยู่ที่ว่าโจทย์เฉพาะหน้าคืออะไร...ถ้าจะลดดอกเบี้ย ก็ควรจะทำตอนนี้ ถ้าไม่ทำตอนนี้ window จะลดลงไป อยู่ที่น้ำหนักการประเมินและให้ความเสี่ยง หรืออีกมุมมองอาจจะมองว่าไม่จำเป็นต้องทำก็ได้" นายเชาว์กล่าว
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองสาเหตุที่จะทำให้ กนง.อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจาก 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมายังคงเป็นไปอย่างล่าช้า 2.หากมองไปข้างหน้าในปี 58 ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูง อันอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำได้ในระดับที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ 3.แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงตามระดับราคาพลังงานในตลาดโลก เอื้อต่อการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ
          4.ท่าทีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของไทย สอดคล้องกับหลายประเทศในโลกที่เริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอและ 5.ตลาดการเงินมีการปรับคาดการณ์ถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปบางส่วนแล้ว โดยจะเห็นได้จากเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางที่ปรับลดลงประมาณ 12-30 จุด(Basis Points) เมื่อเทียบกับช่วงการประชุม กนง.ในครั้งก่อน(5 พ.ย.57)
          แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยคงจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจริง ผนวกกับสภาพคล่องในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงและน่าจะเพียงพอสำหรับการรองรับกิจกรรมการระดมทุนและการปล่อยสินเชื่อในระยะแรกของปี 58 ที่คงมีโมเมนตัมที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยจะทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องในจังหวะที่ยาวนานขึ้นตามไปด้วย
          ขณะที่นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics)  ระบุว่า ในการประชุม กนง.รอบนี้ มีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่เป็นตัวเอื้อให้ กนง.สามารถผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้อีก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด เศรษฐกิจโลกเองก็ยังมีความเสี่ยง ในขณะที่ปัจจุบันไทยไม่มีแรงกดดันเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เพราะในภาพรวมเงินเฟ้อของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ
          จากเดิมที่เคยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในรูปของ V-Shape แต่ปัจจุบันกลับพบว่าการฟื้นตัวเป็นรูป U-Shape และเป็นตัว U ที่อ้วนมาก ดังนั้นจึงมองว่า กนง.น่าจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งนี้ หรืออย่างช้าคือการประชุม กนง.รอบหน้าในช่วงต้นปี 58
          ทั้งนี้ TMB Analytics มองว่า กนง.มีช่องที่จะลดดอกเบี้ยได้อีก 0.25% อย่างสบายๆ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ประเด็นที่น่าติดตามอย่างมากอีกประเด็นหนึ่ง คือการที่ ธปท.จะปรับมาดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) โดยกรอบเงินเฟ้อที่พูดถึงกันอยู่ในช่วง 1.5 - 4.5% ซึ่งหมายความว่า หากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจอยู่ต่ำกว่ากรอบของ ธปท.ตั้งแต่เริ่มใช้กรอบใหม่ทันที ซึ่งแม้กรอบดังกล่าวจะตั้งไว้สำหรับค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อตลอดทั้งปี แต่ถ้าหากเงินเฟ้อไม่กลับมาเป็นขาขึ้นก็อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 58 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 17 ธ.ค.นี้
          "การประชุม กนง.ครั้งนี้ นับว่าต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะมีผลโดยตรงต่อทิศทางดอกเบี้ย เพราะหากมีการหั่นดอกเบี้ยจริง ภาวะดอกเบี้ยของไทยจะไม่กลับมาเป็นขาขึ้นจนกระทั่งปี 2559 เรียกว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบันจะลากยาวไปอีกทั้งปีหน้าเลยทีเดียว"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ