สนพ.คาดราคาดีเซลอาจลดตามการปรับลดปริมาณ B100, เล็งเพิ่มภาษีสรรพสามิต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 22, 2015 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) คาดว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล อาจจะปรับลดลง หลังจากที่รัฐบาลได้ปรับลดปริมาณไบโอดีเซล(B100)ที่เป็นส่วนผสมในดีเซลลงเหลือราว 3% จากเดิมที่ระดับ 7% ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบกับลดลงด้วย ขณะที่รัฐบาลมีแผนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับ 4-5 บาท/ลิตร ใกล้เคียงกับการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซินในปัจจุบัน
"ผลจากการปรับสัดส่วนของไบโอดีเซลเหลือราว 3% ทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลลดลงราว 60 สตางค์ต่อลิตร ส่วนนี้ก็จะเป็นผลดีสำหรับผู้บริโภคและยังช่วยรักษาระดับน้ำมันปาล์มดิบในประเทศด้วย ส่วนจะกลับมาสะท้อนต่อราคาขายปลีกดีเซลเมื่อไหร่นั้นตอนนี้สนพ.ก็กำลังติดตามอยู่"นายชวลิต กล่าว

ปัจจุบันค่าการตลาดน้ำมันดีเซลของผู้ประกอบการอยู่ที่ระดับ 2.30 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าการตลาดปกติที่ควรจะได้รับระดับ 1.50 บาท/ลิตร ขณะที่การปรับลดส่วนผสมไบโอดีเซลดังกล่าวเพิ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ซึ่งต้องให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวระยะหนึ่งด้วย รวมถึงยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย จากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะยังคงเคลื่อนไหวทรงตัวระดับ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงครึ่งแรกปีนี้

นายชวลิต กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้น คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นให้มาอยู่ระดับ 4-5 บาท/ลิตร จาก 3.25 บาท/ลิตรในปัจจุบัน เพื่อให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน

นอกจากนั้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาการจำหน่ายน้ำมันแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสมมากขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันมีการจำหน่ายน้ำมันหลายประเภทภายในสถานีบริการน้ำมันแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการและจะสะท้อนมายังราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ โดยจะมีการพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย ก่อนจะรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

"ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อพิจารณาชนิดน้ำมันที่เหมาะสม ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป"นายชวลิต กล่าวตอบคำถามกรณีที่มีกระแสข่าวว่าภาครัฐจะยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91

ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สนพ. คาดว่าหลังจากนี้คงจะมีการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันประเภทต่างๆ หลังจากที่ฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯล่าสุดเป็นบวกสูงถึงราว 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่ม ก็อาจจะลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯเป็นการชดเชย แต่ยังคงจัดเก็บต่อไปเพื่อใช้รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และรักษาส่วนต่างระดับราคาน้ำมันประเภทที่มีการส่งเสริม เช่น E85 เพื่อให้เกิดการจูงใจในการใช้

ส่วนความคืบหน้าในการแยกบัญชีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯของก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)นั้น คาดว่าจะเริ่มมีการจัดเก็บจาก LPG ในกลุ่มครัวเรือน ,ขนส่ง และอุตสาหกรรม ในอัตรา 80 สตางค์/กิโลกรัม เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.นี้ ซึ่งจะทำให้มีเงินไหลเข้าสำหรับบัญชี LPG ราว 10 ล้านบาท/วัน หรือราว 3.6 พันล้านบาท/ปี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพยุงราคา LPG ในอนาคตหากราคาในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

การจัดเก็บเงินเข้าบัญชี LPG ดังกล่าว ทำให้คาดว่าจะยังไม่มีการปรับราคาขายปลีก LPG ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 24.16 บาท/กิโลกรัม แม้ว่าราคา LPG ในขณะนี้จะอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาตลาดโลกล่าสุดเมื่อเดือนม.ค.อยู่ที่ 442 เหรียญสหรัฐ/ตัน ประกอบกับแนวโน้มราคาในเดือนก.พ.อาจจะปรับลดลงเล็กน้อย แต่ไม่มากนัก

ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) นั้น ขณะนี้ สนพ.ได้ทำการศึกษาต้นทุนการผลิต NGV ซึ่งคาดว่าจะลดลงมาอยู่ในช่วง 14-15 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่บมจ.ปตท.(PTT) เคยระบุว่าต้นทุน NGV อยู่ที่ราว 16 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติได้ปรับลดลงตามราคาน้ำมัน โดยมองว่าต้นทุนการผลิต NGV ที่ลดลง มาใกล้กับราคาขายปัจจุบันที่ 12.50 บาท/กิโลกรัม ทำให้คาดว่ามีโอกาสที่จะปรับราคา NGV ให้สะท้อนต้นทุนได้ในช่วงเดือนเม.ย. อย่างไรก็ตามแม้จะมีการปรับราคา NGV ขึ้น แต่ก็ยังมีนโยบายที่จะดูแลราคาในกลุ่มรถสาธารณะอยู่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ