(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผย ธ.ค.ส่งออกโต 1.90% นำเข้าหด 8.74% เกินดุล 1,589 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 27, 2015 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออกเดือน ธ.ค.57 กลับมาขยายตัวได้ จากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.4 ล้านตัน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมก็มีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง และตลาดหลักอย่างสหรัฐฯกลับมาขยายตัว 13.2% สูงสุดในรอบ 2 ปี

"การส่งออกข้าวขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11" นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

สำหรับภาวะการค้าต่างประเทศของไทยในเดือน ธ.ค.57 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.90% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 18,790 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกเดือนธ.ค.ไม่รวมน้ำมันสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17,862 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ที่ 3.4% (YoY) โดยมีสัดส่วน 95.0% ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป (มีสัดส่วน 5.0% ของมูลค่าการส่งออกรวม) หดตัว -20.4% ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปริมาณน้ำมันที่ผลิตออกมามากเกินความต้องการ ของตลาดส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงประมาณ 25.0% (YoY)

การส่งออกเดือนธันวาคม 2557 ในภาพรวมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวที่ 0.8% (YoY) ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าข้าว น้ำตาล อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป โดยเฉพาะข้าวมีอัตราขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 อยู่ที่ 67.0% มีปริมาณการส่งออกเดือนธันวาคม 57 อยู่ที่ 1.4 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัวสูงในตลาด กลุ่มทวีปแอฟริกา และอินโดนิเซีย รวมทั้งการส่งออกน้ำตาล ขยายตัวสูงถึง 96.1% ขยายตัวสูงในตลาดอาเซียนและจีน เนื่องจากอุปทานน้ำตาลในตลาดโลกลดลง จากปัญหาสภาพอากาศในประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้หลายประเทศนำเข้าจากไทยมากขึ้น

ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่หดตัวได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผัก ผลไม้สด แช่แข็ง และแปรรูป โดยยางพาราหดตัวที่ -43.0% (YoY) เนื่องจากราคายางพาราปรับตัวลดลง จากอุปทานส่วนเกินของยางพาราในตลาดโลก และอุปสงค์ยางพารายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร สะท้อนจากดัชนีราคาส่งออกยางพาราเดือนธ.ค. 2557 ที่ลดลง -19.4% (YoY) รวมทั้งจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทยได้ชะลอการนำเข้า อันเนื่องมาจากปริมาณสต๊อกยางยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกยางพาราของไทยลดลง 14.6%

สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดีที่ 4.5% โดยสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ โดยการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 0.1% (YoY) โดยมีอัตราขยายตัวสูงในตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม รวมทั้งสถานการณ์ส่งออกที่ดีขึ้นในสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เหล็ก หลังจากกลับมาขยายตัวในเดือนธ.ค. 57 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวได้แก่ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้าผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องปรับอากาศฯ

นอกจากนี้ การส่งออกเดือนธ.ค. 57 ไปยังตลาดหลักกลับมาขยายตัว โดย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป กลับมาขยายตัวที่ 5.9% และ 1.4% (YoY) ตามลำดับ รวมทั้งการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา มีสัญญาณการฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ขยายตัวที่ 13.2% เป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี(ม.ค.2556) จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามทิศทางการจ้างงานที่ดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว

สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีในตลาดหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น ขณะที่การส่งออกไป จีน และอาเซียนหดตัวที่ -18.8% และ -0.6% ตามลำดับ ตามการส่งออกยางพาราที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัวตาม ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณชะลอตัว โดยการนำเข้ารวมของจีนเดือนธ.ค. 57 หดตัว -2.3% สะท้อนอุปสงค์ในประเทศจีน ยังอ่อนแอ ขณะที่ตลาดอาเซียน หากไม่รวมการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปจะขยายตัวที่ 2.3% โดยมีสินค้าที่ขยายตัวสูงได้แก่ ข้าว เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ขยายตัวอยู่ที่ 3.2% โดยเฉพาะภาพรวมการค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งมีมูลค่าการค้าเติบโตต่อเนื่อง รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ส่วนการนำเข้าหดตัวลดลง 8.74% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 17,201 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,589 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามการนำเข้าที่ลดลงของสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง กลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ซึ่งหดตัว -37.3%, -4.9% และ -4.0% (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของไทยหดตัว -42.6% (YoY) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง (ดัชนีราคานำเข้าน้ำมันดิบเดือนธ.ค.57 ลดลง -36.2% (YoY)) จากอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกมีมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนต่อภาคการผลิต ของไทยมีต้นทุนต่ำลง และส่งผลดีต่อค่าครองชีพของประชาชน ในส่วนของการนำเข้าสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง หดตัวจากภาวะการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป หดตัวตามการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ ซึ่งหากไม่รวมทองคำ สินค้ากลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปจะขยายตัว 6.2% สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 17.7% เป็นสัญญาณสะท้อนแนวโน้มการส่งออก การบริโภคและการผลิตในประเทศที่มีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ

ขณะที่ทั้งปี 57 ส่งออกหดตัวลดลง 0.41% จากปี 56 โดยมีมูลค่า 227,574 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าหดตัวลดลง 8.97% จากปี 56 โดยมีมูลค่า 227,952 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 379 ล้านเหรียญสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ