SCB EIC เผยศก.ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด มองดอกเบี้ย 2% เหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2015 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับ 2% ยังสามารถสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามการลดลงของราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปไม่ได้ลดลงจึงไม่ใช่การเกิดภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด

วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 4 ปี 2014 ขยายตัว 2.3%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) จากที่ขยายตัว 0.6%YOY ในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2014 เศรษฐกิจไทยเติบโต 0.7%

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.9%YOY ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.2%YOY โดยการบริโภคสินค้าไม่คงทนเติบโตได้ถึง 3.8%YOY สูงกว่าไตรมาสก่อนที่เติบโต 2.7%YOY จากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่เติบโต 2.9%YOY และการบริโภคไฟฟ้าและน้ำประปาเติบโตถึง 7.3%YOY สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในสินค้าอุปโภคบริโภคโดยทั่วไปสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนหดตัว 9.5%YOY เนื่องจากการซื้อรถยนต์ยังหดตัวถึง 19.6%YOY ซึ่งถ้าหากไม่รวมการบริโภคในหมวดยานยนต์ การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ถึง 4.1%YOY โดยรวมแล้ว การบริโภคภาคเอกชนเติบโตได้ 0.3% ตลอดทั้งปี 2014 เท่ากับการเติบโตในปี 2013

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องติดต่อกันสองไตรมาส โดยเติบโตได้ 4.1%YOY ในไตรมาส 4 สูงขึ้นจากที่ขยายตัว 3.9%YOY ในไตรมาส 3 การลงทุนในด้านเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัดส่วนราว 80% ของการลงทุนภาคเอกชนเติบโต 4.7%YOY ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่เติบโต 6.4%YOY นอกจากนี้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ระดับ 2.4%YOY หลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำ หากคิดอัตราการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาลแล้วการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 4.9% สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนนัก โดยรวมแล้ว การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 1.9% ในปี 2014

"การใช้จ่ายภาคครัวเรือนสามารถฟื้นตัวได้ดีแม้จะมีข้อจำกัดด้านหนี้ครัวเรือน สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนไม่ได้น่ากังวลนัก แต่การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐในไตรมาส 4 ขยายตัวต่ำกว่าที่อีไอซีประเมินไว้ ทำให้ภาคการใช้จ่ายในประเทศไม่ได้ฟื้นตัวได้ดีอย่างที่คาด ดังนั้น การลงทุนภาครัฐจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ