ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองส่งออกไทยยังไร้สัญญาณฟื้น คาด Q1 ติดลบมากกว่า 2%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2015 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปัจจัยแวดล้อมของการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกที่ยังขาดสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน ทำให้คาดว่ามีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.58 จะหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และกดดันให้ภาพรวมของมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงไตรมาส 1/2558 มีโอกาสหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 2.0 ที่ประเมินไว้ในขณะนี้

ทั้งนี้ จากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนม.ค.58 ยังน่าผิดหวัง โดยมูลค่าการส่งออก (รูปดอลลาร์ฯ) หดตัวลงร้อยละ 3.46 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.90 ในเดือนธ.ค.57 แม้สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกตัวสำคัญ อาทิ รถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า จะขยายตัวสูงเป็นตัวเลขสองหลัก แต่ก็เป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ราคาสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการก็ได้รับผลกระทบจากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีในระหว่างเดือนม.ค.58 ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญอย่างยางพารายังคงลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนในอัตราสองหลักอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และตลาดในกลุ่ม CLMV น่าจะสามารถประคองภาพการขยายตัวได้ต่อเนื่องตลอดในช่วงไตรมาส 1/2558 แต่อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยสถานการณ์ที่หดตัวต่อเนื่องของการส่งออกไปยังจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียนเดิม (5 ประเทศ) ได้ ขณะที่การเคลื่อนไหวของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทั้งเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งที่สำคัญในอาเซียน อินโดนีเซีย มาเลเซีย) รวมถึงสกุลเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ (เงินยูโร เงินเยนญี่ปุ่น และเพื่อนบ้านอาเซียน) ก็อาจเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ลดทอนความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย

นอกจากการส่งออกของไทยจะเผชิญแรงกดดันจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังอาจต้องรับมือกับแรงฉุดทางด้านราคาของสินค้าส่งออกหลายรายการด้วยเช่นกัน (โดยเฉพาะ ราคาน้ำมันดิบ และยางพาราที่คาดว่า จะลดลงราวร้อยละ 50 และร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน ตามลำดับ)

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่าภาคการส่งออกของไทยน่าจะสามารถกลับมาทยอยฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกทยอยปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่สมดุลมากขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มมีสัญญาณการขยายตัวที่ชัดเจนกว่าในขณะนี้

"อีกหนึ่งประเด็นที่อาจต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า คือ มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่กลับมาหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ที่ร้อยละ 2.34 เพราะอาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ตอกย้ำว่าการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยยังคงอยู่ภายใต้โจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายจากหลายด้าน ผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคาสินค้าส่งออกค่อนข้างรุนแรง ท่ามกลางการดิ่งลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก และสภาวะการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าเกษตร" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่าหากวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดแล้ว จะพบว่าสินค้าส่งออกในกลุ่มโภคภัณฑ์ ซึ่งมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 20 ของการส่งออกรวมในเดือนม.ค.58 กลับมีราคาที่ลดต่ำลงมาก จนมีผลฉุดมูลค่าการส่งออกของไทยให้กลับมาหดตัวลง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ (สัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 3.9 ของการส่งออกรวม) และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหรือราคาน้ำมัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (สัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 16.4 ของการส่งออกรวม)

ตลาดส่งออกสำคัญโดยเฉพาะจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น หดตัวลงค่อนข้างแรง ที่ร้อยละ 19.7 5.8 และ 7.5 ตามลำดับ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวแล้ว การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่อยู่ในกรอบแข็งค่า เมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน สกุลเงินของประเทศในแถบยุโรป และเงินเยนของญี่ปุ่น ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่กดดันให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกไทยจากตลาดกลุ่มนี้ชะลอตัวลง นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปยังสะท้อนปัจจัยเฉพาะจากการสิ้นสุดลงของสิทธิ GSP ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2558 ด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ