กฟผ.เปิดวอร์รูม 24 ชม.รับมือพม่าหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติ 10-27เม.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2015 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวกฟผ. ได้มีการตั้งศูนย์บริหารจัดการภาวะวิกฤต กฟผ. (War room) ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับสถานการณ์กรณีสหภาพเมียนมาร์หยุดผลิตก๊าซธรรมชาติว่า ในช่วงวันที่ 10-27 เม.ย.58

สำหรับการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากสหภาพเมียนมาร์ 2 แหล่ง คือ แหล่งยาดานา ในวันที่ 10-19 เมษายน 2558 เพื่อทำงานซ่อมฐานรากของแท่นผลิตที่ทรุดตัว และแหล่งซอติก้า ในวันที่ 20-27 เมษายน 2558 เพื่อหยุดทำงานตรวจสอบอุปกรณ์ และซ่อมบำรุงอุปกรณ์เพิ่มความดัน ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งภาคตะวันตกทั้งหมด ได้แก่ โรงไฟฟ้าบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โรงไฟฟ้าบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด โรงไฟฟ้าบริษัทไตรเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าราชบุรีเวิลด์ คาดว่าในช่วงที่มีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติดังกล่าว ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือช่วงพีคจะอยู่ที่ประมาณ 27,500 เมกะวัตต์

"ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล เนื่องด้วย กฟผ. ได้มีมาตรการรองรับไว้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบผลิตไฟฟ้า โดย กฟผ. จะเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือชุดที่ 1 ซึ่งสามารถเดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออกได้ ประสานงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้เดินเครื่องเต็มความสามารถ รับซื้อไฟฟ้าในส่วนเพิ่ม (Enhance Capacity) จากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ ทดสอบเปลี่ยนเชื้อเพลิงดีเซลโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ได้รับผลกระทบให้มีความพร้อมสูงสุด และใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลเดินเครื่องทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ลดลง โดยคาดว่าจะต้องใช้น้ำมันเตาจำนวนประมาณ 142 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซลประมาณ 46 ล้านลิตร"นายสุธน กล่าว

สำหรับด้านระบบส่ง ได้มีการตรวจสอบสายส่งและอุปกรณ์สำคัญให้พร้อมใช้งานก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ และหยุดการบำรุงรักษาระบบส่งช่วงหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ส่วนด้านเชื้อเพลิง ได้สำรองน้ำมันให้เพียงพอก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ โดยโรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าราชบุรี ได้จัดเก็บน้ำมันเตาเต็มความสามารถ ส่วนโรงไฟฟ้าอื่นที่ได้รับผลกระทบให้สำรองน้ำมันดีเซลอย่างน้อยเพื่อให้เดินเครื่องต่อเนื่องได้ 3 วัน

“ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ตามมาตรการเดินหน้าประเทศไทย ลดใช้พลังงาน คือ ล้างแอร์หน้าร้อน ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ถ้าปรับอุณหภูมิเพิ่ม 1 องศาเซลเซียส จะช่วยประหยัดไฟฟ้าลงได้ร้อยละ 10 ปลดปลั๊กไฟที่ไม่ใช้ เปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ และลดค่าใช้จ่ายของท่านได้เป็นอย่างดี" นายสุธนฯ กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงาน พร้อมดำเนินมาตรการ Demand Response (DR) ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบผลิตไฟฟ้าโดยรวมของประเทศเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ