กบง.มีมติคงราคาขายปลีก LPG เดือนพ.ค.ที่ 23.96 บ./กก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 7, 2015 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติคงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับเดือนพ.ค.ที่ระดับ 23.96 บาท/กิโลกรัม แม้ราคาในตลาดโลกปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ให้เก็บเงินเข้ากองทุนของ LPG เพิ่มขึ้นอีกราว 0.10 บาท/กิโลกรัมตั้งแต่วันพรุ่งนี้ พร้อมเห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนิน "โครงการนำร่องการติดตั้งโซล่าร์รูฟอย่างเสรี (ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร)"

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เป็นประธานได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนพ.ค. โดยสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) ได้ปรับตัวอยู่ที่ 469 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. 5 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเดือนเม.ย.แข็งค่าลง ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG โดยใช้ต้นทุนเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักจากแหล่งผู้ผลิตและแหล่งจัดหา ประกอบด้วย โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และการนำเข้า มีการปรับลดลง 0.09 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากเดิม 16.21 บาท/กก. เป็น 16.12 บาท/กก.

แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคาต้นทุน LPG ยังมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีก LPG ในปัจจุบัน ที่ประชุมจึงเห็นควรใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโดยให้คงราคาขายปลีก LPG เดือนพ.ค.58 คงเดิมที่ 23.96 บาท/กก. และไปปรับเพิ่มอัตราเงินเก็บเข้ากองทุนของ LPG ประมาณ 0.10 บาท/กก. จากประมาณ 0.53 บาท/กก. เป็น 0.63 บาท/กก. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. เป็นต้นไป ทั้งนี้ จะส่งผลดีต่อกองทุนของก๊าซ LPG ทำให้มีรายรับเพิ่มขึ้นประมาณ 35 ล้านบาท/เดือน

นอกจากนี้ ที่ประชุมกบง. ยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางการดำเนิน “โครงการนำร่องการติดตั้งโซล่าร์รูฟอย่างเสรี (ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร)" ในระยะแรก ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่นอกโครงการส่งเสริมราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) ให้สามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างเสรี ตามวัตถุประสงค์โครงการปฏิรูปเร็ว (Quick Win)

โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ร่วมกับการไฟฟ้า 3 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) กำหนดพื้นที่นำร่องโดยระยะแรกกำหนดขนาดชุดละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ สำหรับบ้านพักอาศัย และบนอาคารขนาดชุดละไม่เกิน 500 กิโลวัตต์ ภายในปี 58

ทั้งนี้ ในหลักการและแนวทางโครงการฯนี้จะเน้นไปที่รูปแบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หากมีส่วนเกินที่เหลือค่อยขายต่อให้การไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับการส่งเสริมการกระจายการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ใกล้กับแหล่งใช้งาน (Distributed Generation : DG) ลดความสูญเสียในระบบส่ง ระบบจำหน่าย และมีการกำหนดราคาการรับซื้อไฟฟ้าให้กระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด โดยจะมีการศึกษาการปรับระบบมิเตอร์เป็นแบบสุทธิ(Net Metering) เพื่อให้มีการแลกปริมาณการซื้อขายไฟฟ้า

พร้อมเสนอกระทรวงการคลังเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะปริมาณไฟฟ้าที่ขายสุทธิเท่านั้น เพื่อส่งเสริมการติดตั้งโซล่าร์รูฟอย่างเสรีให้กว้างขวางและรวดเร็ว แล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประเมินผลโครงการ ซึ่งหากสำเร็จตามกรอบที่วางไว้ก็จะขยายผลนำไปใช้ทั่วประเทศ สำหรับการนำเสนอกรอบและแนวทางของการดำเนินโครงการฯ ในข้างต้นนั้น จะส่งต่อให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ