พาณิชย์ยันจดสิทธิบัตรยาสหรัฐฯตามกม. ชี้บังคับใช้ CL ไม่ได้ถ้าไม่เข้าเงื่อนไข

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 22, 2015 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ผลิตยาสหรัฐฯ ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับยาโซฟอสบูเวียร์ รักษาไวรัสตับอักเสบซี แต่ต้องการให้กรมฯ บังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร(ซีแอล) ดังกล่าว เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมของไทยผลิตและขายในประเทศ เพราะเกรงว่าหากผู้ผลิตยาสหรัฐฯสามารถจดสิทธิบัตรในไทยแล้ว จะทำให้ผูกขาด และขายยาดังกล่าวในราคาแพง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีในไทยกว่า 1.2 ล้านคนเข้าถึงยายากว่า การบังคับใช้ซีแอลจะทำกับสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในไทยแล้วเท่านั้น กรณีนี้สิทธิบัตรของผู้ผลิตยาสหรัฐฯ ยังไม่ได้จดทะเบียนในไทย จึงยังบังคับใช้สิทธิซีแอลไม่ได้ อีกทั้งการบังคับใช้ต้องเข้าตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น เกิดโรคระบาด ขาดแคลน หากไม่เข้าเงื่อนไขจะบังคับใช้ไม่ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ กรมฯยืนยันว่าได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง โดยจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ยื่นคำขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรเกี่ยวข้องกับยาโซฟอสบูเวียร์ 8 คำขอ ระหว่างปี 41-54 และได้ประกาศโฆษณาแล้ว 3 คำขอ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถคัดค้านได้ภายใน 90 วัน ซึ่งไม่มีผู้คัดค้าน แต่แม้เลยระยะเวลา 90 วันไปแล้ว แต่กรมฯ ก็ไม่ได้ปิดโอกาส ล่าสุดได้รับข้อมูลจากเครือข่ายองค์กรเอดส์ที่ไม่ต้องการให้รับจดสิทธิบัตร เพราะจะทำให้ผู้ป่วยไทยเข้าถึงยายาก มาพิจารณาด้วย

"ประเด็นที่เครือข่ายเอ็นจีโอระบุว่ากรมฯ เป็นทาสบริษัทยานั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง เมื่อมีผู้ยื่นขอจดสิทธิบัตรต้องพิจาณาตามกฎหมาย และตามคิว หากไม่รับจดจะกลายเป็นไทยไม่มีหลักเกณฑ์ ซึ่งหลังจากที่ได้ประกาศโฆษณาไปแล้ว จะอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบ ว่าคำขอที่นำมายื่นจดเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่จริงหรือไม่ มีระยะเวลา 5 ปี ให้ผู้ยื่นคำขอเข้ามาตรวจสอบ" อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ