สศค.เผยเศรษฐกิจ เม.ย.ยังโตได้จากการบริโภคภาคเอกชน-แรงหนุนภาคท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 28, 2015 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.58 พบว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ในภาพรวม สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่บ้าง สำหรับภาคการส่งออกสินค้ามีการหดตัวเล็กน้อย ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าผลผลิตภาคการเกษตรกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่อง ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ในภาพรวม สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.8 ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -10.9 ต่อปี ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อเดือน

อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัว สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -18.4 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -31.4 ต่อเดือน โดยเป็นการหดตัวของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาค ตามรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่หดตัวในระดับสูง สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -24.7 ต่อปี

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 66.0 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน การส่งออกที่ยังคงหดตัว และราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ

การลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัวโดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ -3.3 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.1 ต่อเดือน อย่างไรก็ดี ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.4 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 5.3 ต่อเดือน

การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -27.3 ต่อปี ขณะที่ ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี และขยายตัวได้ร้อยละ 10.6 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าพิเศษเครื่องบินเรือและรถไฟพบว่าหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -3.7 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่า สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 ต่อเดือน

สถานการณ์ด้านการคลังสะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณจำนวน -45.0 พันล้านบาทโดยการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)มีจำนวนทั้งสิ้น 168.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.2 ต่อปี ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณรวมเบิกจ่ายได้จำนวน 191.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ามีการหดตัวเล็กน้อย โดยหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่า สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 ต่อเดือน โดยการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงมาจากสินค้าในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และยานพาหนะ สำหรับตลาดส่งออกหลักที่หดตัว ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาเซียน-9 และอาเซียน-5 ขณะที่ตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย และเวียดนาม

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน เม.ย.58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในไทย 2.42 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 25.1 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางระยะใกล้จากจีนและมาเลเซีย เป็นหลัก

นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นในช่วง 12 วันแรกของเดือน พ.ค.58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.6 แสนคน ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 22.9 ต่อปี สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย.58 ยังคงส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.3 ต่อปี ตามการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมที่หดตัวลดลงที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ ฮาร์ดิสก์ไดรฟ์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ เป็นสำคัญ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.57 จากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่งผลต่อการบริโภคและการใช้จ่ายโดยเฉพาะภาคเกษตร

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.24 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกเป็นสำคัญมาอยู่ที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคงโดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 161.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่าสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ