คมนาคม เซ็น MOC กองทัพเรือพัฒนาอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ เร่งขยายขีดความสามารถรับผู้โดยสาร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 3, 2015 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(Memorandum of Cooperation:MOC) กับ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ แห่งที่ 3 ว่า กระทรวงคมนาคมและกองทัพเรือได้สรุปแนวคิดการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาภายใต้แนวคิด One Airport Two Missions หรือ 1 สนามบิน 2 ภารกิจ คือ ด้านความมั่นคงและเชิงพาณิชย์ และจะใช้รองรับหากเกิดวิกฤติ

โดยหลังจากนี้จะตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.คณะทำงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมกับภายนอกท่าอากาศยาน มีนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน 2.คณะทำงานวางแผนธุรกิจส่งเสริมกิจการของท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงพาณิชย์ มีนางสร้อยทิพย์ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และ 3.คณะทำงานประชาสัมพันธ์ มีนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อสรุปรายลเอียดในแต่ละด้านให้ชัดเจน ภายใน 2-3 เดือน

ทั้งนี้ เนื่องจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความคับคั่งและทยอยมีการปิดซ่อมรันเวย์เป็นช่วงๆ ประกอบกับพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีแหล่งท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพกระจายอยู่ จะมีส่วนช่วยโน้มน้าวให้สายการบินต่างๆ โดยเฉพาะจีน ทั้งเช่าเหมาลำและแบบประจำ เปลี่ยนจุดหมายปลายทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาใช้สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะสะดวกในการท่องเที่ยวภาคตะวันออกมากกว่า ส่วนนักลงทุนหรือภาคบริการก็เช่นกัน โดยจะมีแผนประชาสัมพันธ์และออกโปรโมชั่นจูงใจให้สายการบินต่างๆ เข้ามาใช้อู่ตะเภา

รมว.คมนาคม กล่าวว่า การให้บริการทั้งการควบคุมขึ้นลงอากาศยาน บริการภาคพื้น กองทัพเรือจะรับผิดชอบทั้งหมด แต่ บมจ.การบินไทย (THAI) พร้อมให้การสนับสนุนหากกองทัพเรือเรือร้องขอ โดยขณะนี้กองทัพเรือมีบุคลากรที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO)

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงแรกจะมีการขยายถนนด้านหน้าสนามบินอู่ตะเภาเป็น 4 ช่องจราจร และมอเตอร์เวย์สาย 7(พัทยา-มาบตาพุด) ระยะทาง 31 กม. การขยายถนนจากสนามบินไปท่าเรือจุกเสม็ด ระยะทางประมาณ 10 กม. ของกรมทางหลวง รวมถึงโครงข่ายถนนโดยรอบที่จะสนับสนุนการเชื่อมต่อกับสนามบิน ส่วนระบบรางจะเป็นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ความเร็ว สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งจะมีการหารือกับกองทัพเรือในส่วนที่จะเชื่อมต่อกับสนามบินว่าจะเป็นระบบแอร์พอร์ตลิงค์ไปยังอาคารผู้โดยสารหรือใช้รถชัทเทิลบัสเชื่อมจากสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ไปยังสนามบิน เป็นต้น โดยคณะทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานจะพิจารณา

ด้าน พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือพร้อมร่วมมือกับคมนาคมในการพัฒนาอู่ตะเภาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ ทั้งด้านบุคลากรและพื้นที่ โดยขณะนี้กองทัพเรืออยู่ระหว่างขยายขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสารได้เป็น 3 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 200 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2559 โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 2 แสนคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากรัสเซีย จีน เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภาให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว แต่ยังมีเที่ยวบินน้อย โดยบุคลากรให้บริการต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือทั้งหมด และจะพัฒนาฝึกอบรมศักยภาพเพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งตามข้อตกลงกองทัพเรือสามารถขอความร่วมมือจาก บมจ.การบินไทย ให้เข้ามาช่วยในด้านการบริการภาคพื้น(Ground Service) ได้ พร้อมกันนี้จะมีการให้บริการเชิงพาณิชย์ ร้านค้าปลอดภาษี เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ แห่งที่ 3 แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1(2558-2560) รองรับผู้โดยสารเป็น 3 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 2(2561-2563) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขยาดขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 5 ล้านคนต่อปี โดยกองทัพเรือจะเป็นผู้บริหารเหมือนเดิม และระยะที่ 3(2563 เป็นต้นไป) มีการศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ Landside และ Airside และสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนาขีดความสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ