(เพิ่มเติม) ที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2015 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันที่ 10 มิ.ย.58 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% โดยในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ โดยเฉพาะจากภาวะเศรษฐกิจโลก จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ปรับตัวในทิศทางที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินนโยบาย มีดังนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1 และเดือนเมษายน 2558 ชะลอลงจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง และการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก

อย่างไรก็ดีการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องมีบทบาทในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ในระยะต่อไป เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและเอเชีย เป็นปัจจัยให้มีการส่งออกของไทยมีควาเมสี่ยงสูงที่จะติดลบ จากเดิมที่คาด 0% โดยกนง.จะมีการปรับคาดการณ์ในครั้งต่อไป

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก แต่จะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีด้วยผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่จะทยอยหมดไป รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันและอาหารสดที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกแต่โน้มลดลงบ้างตามแรงกดดันจากด้านอุปสงค์ที่มีจากัด

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าโอกาสของการเกิดภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังขยายตัว ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นและการคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ

ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยอย่างใกล้ชิดและพร้อมใช้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) ที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ