KBANK คาด ธปท.คงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี แม้ส่งออกปีนี้หดตัวฉุดเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 11, 2015 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากการลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งติดต่อกันในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วถึง 4.5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่ค้า ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแทรกแซงค่าเงินจะส่งผลถึงภาคเศรษฐกิจจริงได้รวดเร็วและเป็นวงกว้างกว่า เนื่องจากมูลค่าตลาดส่งออกของไทยสูงกว่าตลาดสินเชื่อถึง 17 เท่า

อย่างไรก็ตาม KBANK คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา ทั้งในไตรมาส 1 ของปีนี้ และข้อมูลเศรษฐกิจเดือน เม.ย.58 ที่อ่อนแออาจทำให้ ธปท.ต้องปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 58 ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้จากเติบโต 3.8% ลงมาใกล้เคียงกับระดับที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองไว้ที่ 2.8%

เนื่องจากการส่งออกไทยอาจไม่สามารถขยายตัวได้ หลังจากช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าเฉลี่ยเพียงแค่เดือนละ 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น หากจะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัว ช่วงที่เหลือของปีนี้จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 2.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับ แม้การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่มองว่าทั้ง 2 ปัจจัยไม่เพียงพอจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากมีสัดส่วนต่อจีดีพีที่ต่ำเกินไป

"เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่กลับมาฟื้นตัว โดยการบริโภคในประเทศและการส่งออกยังคงฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความเปราะบางของประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีน ปัจจัยหนึ่งที่กดดันการส่งออกไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านคือความไม่สามารถในการผลิตสินค้าไฮเทคและการเปลี่ยนแปลงของรสนิยมในการบริโภค"น.ส.ปารีณา กล่าว

น.ส.ปารีณา สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังนั้น มองว่าเศรษฐกิจโลกจะมีสหรัฐฯเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ขณะที่เศรษฐกิจอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยูโรยังคงมีความเปราะบาง โดยเศรษฐกิจสหรัฐเห็นการฟื้นตัวในเกณฑ์ดี แม้จะชะลอตัวลงบ้างในช่วงไตรมาสแรก แต่สัญญาณจากตลาดแรงงานเริ่มบ่งชี้ว่าจะเห็นเศรษฐกิจกลับมาเร่งตัวขึ้นได้ในปีหลัง ซึ่งแม้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังอยู่ในอัตราต่ำกว่าเป้าหมายของทางการ แต่โดยรวมแล้วมีสาเหตมาจากราคาพลังงาน ดังนั้นจึงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมที่ก้าวเข้าสู่ช่วงของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีความน่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว สะท้อนจากการนำเข้าที่หดตัวในระดับสูง โดยความเสี่ยง 3 ปัจจัยสำคัญ คือ หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ในระดับสูง, กิจกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ยังหดตัว และภาคการเงินที่ไม่เป็นทางการ(Shadow banking)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ