นายกฯ ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงที่ญี่ปุ่น 3-4 ก.ค.นี้ ร่วมลงนามร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 30, 2015 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 (7 th Mekong – Japan Summit) ในวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมลงนามในร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น

ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ตามที่พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เสนอ

สำหรับร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น จะระบุวิสัยทัศน์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงระหว่างพ.ศ.2559-2561 (ค.ศ.2016-2019) ซึ่งมีใจความสำคัญคือ การพัฒนาอย่างมีคุณภาพ (quality growth) กล่าวคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน มั่นคง และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการพัฒนาภาคการผลิตเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคง โดยสาขาความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 เสาหลัก ได้แก่ 1.ความพยายามด้านกายภาพ : การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ 2.ความพยายามด้านกฎระเบียบ : การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านอุตสาหกรรมและการเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ 3.การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว และ 4.การประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ

ร่างยุทธศาสตร์ฯ เป็นเอกสารที่มีสาระสำคัญเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ความร่วมมือและความพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ ระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบกับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการมีบทบาทในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของประเทศลุ่มน้ำโขงอีกด้วย

สำหรับความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และญี่ปุ่น โดยไทยมีบทบาทในการเป็นหุ้นส่วนของญี่ปุ่นในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประเทศสมาชิก ลดช่องว่างความเจริญระหว่างประเทศสมาชิกและภายในภูมิภาคอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ