(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มิ.ย.58 ลดลง 1.07% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2015 13:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ในเดือน มิ.ย.58 อยู่ที่ 106.64 ลดลง 1.07% เมื่อเทียบกับ มิ.ย.57 เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือน ม.ค.58 เป็นต้นมา แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าเพิ่มขึ้น 0.10% จาก พ.ค.58 ส่งผลให้ CPI ช่วง 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.58) ติดลบ 0.81% จากการลดลงของดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.82% ตามการลดลงของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร 6.46% ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.70% หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 1.07% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 1.09% หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้น 0.67% และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.18%

ทั้งนี้การที่เงินเฟ้อปรับลดลง 1.0%7(YoY) ยังไม่เป็นสัญญาณสะท้อนภาวะเงินฝืด เป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งนโยบายการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ฟื้นตัวช้า ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคประเภท อาหารสด อาหารสำเร็จรูป ค่าทัศนาจร และค่ารักษาพยาบาล ยังคงมีทิศทางที่สูงขึ้น สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมกลุ่มราคาอาหารสดและพลังงาน) หรือ Core CPI เดือน มิ.ย.58 ที่มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น 0.94% โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาขยายตัวในระดับปกติช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน มิ.ย.58 อยู่ที่ 113.94 เพิ่มขึ้น 0.51% จาก มิ.ย.57 และเพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 102.69 หดตัว 1.90% จาก มิ.ย.57 แต่เพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

นายสมเกียรติ ยืนยันว่า การที่เงินเฟ้อปรับลดลงต่อเนื่อง 6 เดือนยังไม่ถือว่าเกิดเงินฝืดหลังติดลบต่อเนื่องเป็นผลมาจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ เป็นผลจากการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวลดลง อีกทั้งกำลังซื้อของประชาชนยังคงมีอยู่

ขณะเดียวกันในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ที่ได้มีการปรับในส่วนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าอาหารสดแล้ว พบว่าดัชนียังอัตราการเพิ่มขึ้น

"จะบอกว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืดก็คงไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมาการที่ดัชนีติดลบเป็นผลมาจากราคาน้ำมันลดลง และทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องปรับลดราคาลงตาม ซึ่งไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ซื้อสินค้าหรือเศรษฐกิจเข้าภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด" นายสมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ดียังมองว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3 ปีนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ -0.3% ถึง -0.5% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มปรับเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 4 หรือเดือนกันยายน แต่ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะปรับตัวเป็นบวกได้เร็วกว่าเดือนกันยายน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั้ปี 58 ไว้ตามเดิมที่ขยายตัว 0.6-1.3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ