TMB ชี้ปีนี้ภัยแล้งรุนแรง ผลผลิตลด กระทบรายได้เกษตรกร-ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง แนะวางแผนรับมือแก้แล้งในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 24, 2015 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า ภัยแล้งปี 2558 กระทบต่อภาคเกษตรไทยตั้งแต่ต้นปี เมื่อน้ำไม่เพียงพอสำหรับปลูกข้าวนาปรังฤดูกาลผลิต 2557/58 ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองจำนวน 26 จังหวัด ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังลดลงกว่า 1 ล้านตันข้าวเปลือก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ที่มีแนวโน้มกำลังแรงขึ้นจากต้นปีที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้สูงที่จะกระทบต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้า ทำให้อากาศร้อนขึ้นและฝนตกน้อยกว่าปกติ ปริมาณกักเก็บน้ำในเขื่อนมีแนวโน้มลดลง

เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ล่าสุดมีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 7,048 ลบ.ม. คิดเป็นเพียงร้อยละ 30.1 ของปริมาณกักเก็บสูงสุด เขื่อนทั้งสองจะปล่อยน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้ควรมีปริมาณน้ำกักเก็บมากกว่า “ปริมาณน้ำขั้นต่ำเพื่อป้องกันการขาดน้ำในอนาคต" (Lower Rule Curve หรือ LRC) เฉพาะเดือนกรกฎาคมเขื่อนทั้งสองควรมีน้ำกักเก็บรวมกันมากกว่า 10,072 ลบ.ม. หรือร้อยละ 43.8 ของปริมาณกักเก็บสูงสุด จึงจะมีปริมาณน้ำมากกว่า LRC และสามารถปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรได้ ภาวะฝนทิ้งช่วงและฝนตกน้อยจากผลของเอลนิโญ่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเดือนกรกฎาคมต่ำกว่า LRC จนภาครัฐประกาศให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เลื่อนการเริ่มปลูกข้าวนาปีออกไปเป็นเดือนสิงหาคม

TMB Analytics คาดว่าเกษตรกรอาจเริ่มการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ในเดือนกันยายน เนื่องจากปริมาณน้ำของเขื่อนทั้ง 2 เพิ่มขึ้นเพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกมากขึ้น ทำให้มีน้ำไหลเข้าสะสมในเขื่อนมากขึ้น อีกด้านหนึ่งเขื่อนสามารถปล่อยน้ำลดลงเพราะพื้นที่หน้าเขื่อนได้รับน้ำฝนเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี การเริ่มปลูกข้าวช้าออกไปจากฤดูปกติจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปีในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดลง โดยคาดว่าหากเริ่มปลูกในเดือนกันยายน จะเก็บเกี่ยวข้าวนาปีได้ประมาณ 6.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 35 และหากฝนยังทิ้งช่วงจนต้องเลื่อนปลูกข้าวเป็นเดือนตุลาคม ผลผลิตข้าวนาปีจะลดลงเป็น 5.10 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 49 ซึ่งกระทบกับรายได้เกษตรกรและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตข้าวเช่น ธุรกิจขายเคมีเกษตร ขายเมล็ดพันธุ์ โรงสี เป็นต้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจของ 22 จังหวัด เนื่องจากเม็ดเงินหายไปจากพื้นที่ นอกจากนี้เกษตรกรยังเสี่ยงที่จะขาดน้ำในช่วงข้าวตั้งท้องและออกรวงในช่วงปลายปี ซึ่งเข้าสู่ช่วงที่ฝนตกลดลงอีกด้วย

ทั้งนี้ มองว่าผลกระทบจากภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะปีนี้เท่านั้น ในอดีตเกษตรกรไทยเผชิญปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องและเกิดซ้ำเป็นรอบวัฏจักร ซึ่งสอดคล้องกับปรากฏการณ์เอลนิโญ่ สถาบันมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (National Oceanic & Atmospheric Administration : NOAA) บันทึกการเกิดเอลนิโญ่เกิดขึ้นเฉลี่ย 3 ปี/ครั้ง และจะเกิดในระดับค่อนข้างแรงและรุนแรง 13 ปี/ครั้ง โดยครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในปี 2540 ซึ่งทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงและยาวนานในประเทศไทย

ดังนั้นการรับมือกับภาวะภัยแล้ง นอกเหนือจากมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบแล้ว ควรใช้ช่วงเวลานี้วางแผนรับมือระยะยาวที่จะเกิดขึ้นซ้ำและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เช่น ผลักดันการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตรเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น ลดพื้นที่ปลูกข้าวใช้น้ำสูงถึง 1,154 ลบ.ม./ไร่ เป็นการปลูกพืชตระกูลถั่วหรือข้าวโพดหวานที่ใช้น้ำน้อยกว่าประมาณร้อยละ 50 ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำภาคการเกษตรและยกระดับรายได้เกษตรกรอีกด้วย ด้านการบริหารจัดการและลงทุนโครงการน้ำควรให้ความสำคัญทั้งกรณีน้ำท่วมและน้ำแล้งเท่าๆ กัน เนื่องจากในอดีตเกษตรกรต้องเผชิญภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันเป็นรอบๆ และยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป

ภัยแล้งปีนี้ แม้จะสร้างความเสียหายต่อเกษตรกร แต่ก็เป็นโอกาสดีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวหากมีแผนการรับมือที่เหมาะสมแล้ว เกิดภัยแล้งปีใดในอนาคตคงเดือดร้อนน้อยกว่าภัยแล้งปี 2558 แน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ