(เพิ่มเติม) "เศรษฐพุฒิ" มองศก.ไทยบริบทใหม่โตอัตราต่ำลง ส่งออกมีปัญหาเชิงโครงสร้าง แนะเร่งลงทุนในปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2015 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา เผยผลการศึกษาเรื่อง "เศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่:Thailand's New Normal" ระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในอัตราที่ต่ำลงและช้าลงกว่าในอดีต เนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ คือ เศรษฐกิจไทยที่จากเดิมเคยเติบโตไดัเฉลี่ยปีละ 5% จะเหลือเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 3% เท่านั้นในช่วง 4-5 ปีจากนี้หรือในช่วงที่เหลือของทศวรรษนี้

นอกจากนี้การขยายตัวของการส่งออกจากตัวเลข 2 หลัก อาจจะเหลือโตได้ไม่เกิน 4% เพราะสาเหตุในเชิงโครงสร้างที่จะทำให้หน้าตาของการส่งออกเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันพื้นที่ทางการคลังก็เหลือน้อยลง จากที่เคยใช้งบประชานิยมได้เต็มที่ก็จะกลายเป็นรัฐบาลที่ต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น รวทั้งทิศทางการลงทุนที่จะเปลี่ยนจากเงินลงทุนจากต่างประเทศ(FDI) กลายเป็นเงินลงทุนไปยังต่างประเทศ(ODI) มากขึ้น

โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่บริบทใหม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น การที่ประชากรไทยเข้าสู่วัยชราอย่างรวดเร็วจนกำลังแรงงานแทบไม่เพิ่ม ค่าจ้างโตเร็วจนแซงหน้าผลิตภาพการผลิต ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ตลอดจนมีปัญหารายอุตสาหกรรม เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สูญเสียส่วนแบ่งให้ตลาดเวียดนาม การส่งออกปิโตรเคมีชะลอตัวเพราะลูกค้ารายใหญ่ เช่น จีนขยายการผลิตจนกลายมาเป็นผู้ส่งออกเอง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เจอภาวะอุปทานล้นตลาด เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อโครงสร้างต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เราควรจะต้องดำเนินการมีอย่างน้อย 3 สิ่งสำคัญ คือ 1.ไม่ควรกระตุ้นอุปสงค์หรือการบริโภคมากจนเกินไป แต่สิ่งที่ควรทำคือการเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 2.สร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมและเป็นระบบมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่เต็มไปด้วความเสี่ยง จึงควรมีระบบแบ่งเบาภาระของผู้ได้รับผลกระทบ กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัด เพื่อไม่ให้เป็นนโยบาบประชานิยมที่มีแต่การเรียกร้องการเยียวยาแบบไม่มีวันจบ และ 3.การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในกลุ่มลุ่มน้ำโขง(CLMV) ไม่ใช่มุ่งแต่ AEC เพราะลุ่มน้ำโขงเป็นพื้นที่ที่เติบโตเร็ว ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญมากกว่าแค่การสร้างถนนหรือทางรถไฟเชื่อมโยงกัน แต่ต้องมุ่งใหัเกิดการอำนวยความสะดวกในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น

ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา ยังเสนอให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนปรับความคาดหวังต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเสียใหม่ หากยังคอยแต่คิดว่าศักยภาพเศรษฐกิจของไทยต้องโตได้มากกว่า 5% และเมื่อโตได้ต่ำกว่า 5% จะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่จริงอัตราการเติบโตระยะยาวอยู่แค่ 3% นั้น จะต้องเปลี่ยนจากแนวคิดจากการกระตุ้นการบริโภค หรือการใช้นโยบายประชานิยมมาให้ความสำคัญกับการเน้นให้การลงทุนในประเทศกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานให้มากขึ้น

"ผมอยากจะเตือนสติสักนิด ไม่ใช่แค่ภาครัฐบาล แต่รวมถึงภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนด้วย เราต้องปรับความคาดหวังของเราใหม่ เพราะถ้าเศรษฐกิจโตแบบที่เคยโต 5% เราก็อาจจะลงทุนแบบหนึ่ง แต่ถ้ามันโตน้อยกว่านี้ เราก็ต้องระวังมากขึ้น...เราควรเลือกวิธีที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย แทนที่จะเน้นการกระตุ้นการบริโภค การใช้นโยบายประชานิยม หรือการให้สินเชื่อต่างๆ แต่ควรจะหันมาเน้นเรื่องการลงทุน ซึ่งจะดีกว่า ไม่ใช่แค่การลงทุนภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนภาคเอกชนด้วย เพราะเอกชนถือว่ามีศักยภาพในการลงทุน" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

พร้อมระบุว่า การที่จะรับมือหรือปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจในบริบทใหม่ที่ไทยต้องเผชิญนั้น เห็นว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เรามักจะรอคอยให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้ แต่จากนี้ไปอะไรที่สามารถแก้ไขเองได้ก็ให้ดำเนินการไปเลย เช่น การที่ภาคเอกชนจะจับมือกับนักวิชาการในการร่วมกันแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอภาครัฐ เพราะจะเห็นได้ว่าปัญหาบางเรื่องไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาลแล้วก็ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข

"ที่ผ่านมาเมื่อเห็นปัญหา เรามักคอยภาครัฐให้เข้ามาช่วย ดังนั้นจากนี้ไม่ต้องคอยแล้ว อะไรทำเองได้ก็ทำเลย เช่น เอกชนไปจับมือกับนักวิชาการก็ได้ ที่ผ่านมาเรามีรัฐบาลมาหลายชุด หลายครม. แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ เพราะฉะนั้นอย่าไปหวัง อย่าไปคอย" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา ยังกล่าวถึงบริบทใหม่ของการส่งออกไทยด้วยว่า หลายฝ่ายเชื่อว่าการชะลอตัวของภาคการส่งออกไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) จึงทำให้คิดไปว่าการชะลอตัวดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วปัญหาการส่งออกของไทยมาจากปัจจัยในเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 3 เรื่อง ประกอบด้วย

1.การค้าโลกชะลอตัว จากที่เคยขยายตัวได้เฉลี่ย 10% ระหว่างปี 2544-2551 ก็ลดลงมาเหลือเพียงปีละ 0.9% ในระหว่างปี 2554-2557 ส่วนหนึ่งแม้จะมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ส่วนที่สำคัญกว่านั้นมาจากรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ได้ทำให้เกิดการค้ามากขึ้นเหมือนก่อนแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนนี้ทุก 1% ที่เศรษฐกิจโลกขยายตัว จะทำให้การค้าโลกขยายตัว 1.5% แต่ปัจจุบันพบว่าอัตราส่วนได้ลดลงไปมาก

2.สภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศในภูมิภาค เช่น ถ้าเราดูมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากเวียดนาม จะพบว่าสูงกว่าที่ไทยเคยส่งออกถึง 40% ทั้งๆ ที่เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว คือ ในปี 2553 มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากเวียดนามคิดเป็นเพียงแค่ 1 ใน 4 ของที่ไทยส่งออกเท่านั้น และเมื่อเร็วๆ นี้ซัมซุงได้ปิดฐานการผลิตโทรทัศน์ในไทยและไปตั้งโรงงานใหม่ในเวียดนาม ด้วยเม็ดเงินลงทุนโดยตรงมูลค่าราว 9 หมื่นล้านบาท

3.ปัญหาเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเอง โดยพบว่าในปี 2554 เป็นปีที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากรัฐบาลประกาศใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน จากนั้นไม่นานไทยยังประสบภาวะน้ำท่วมใหญ่ จึงทำให้ภาคส่งออกหดตัวอย่างหนัก ต่อมาแม้จะเริ่มมีการฟื้นตัวแต่ก็เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งแม้เหตุการณ์น้ำท่วมจะไม่ใช่สิ่งที่สามารถควบคุมได้ แต่การไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาและจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลาก็เป็นเรื่องที่นำไปสู่ความเชื่อมั่นที่ลดลง

"อย่าคาดหวังว่าการส่งออกจะกลับไปสู่สภาพเดิม เพราะบริบทใหม่ของการส่งออกคงไม่น่าได้เห็นตัวเลขที่เกิน 4% จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด ทั้งปริมาณการค้าโลกที่เติบโตช้าลง การแข่งขันในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้น" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ