(เพิ่มเติม) "สมคิด"ใช้เวที กกร.โชว์วิสัยทัศน์ ฟื้น"โอท็อป"-สร้าง"นักรบเศรษฐกิจ"-ดึงต่างชาติตั้งคลัสเตอร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 27, 2015 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"สมคิด"ปาฐกถาเรียกความเชื่อมั่นภาคเศรษฐกิจ เตรียมทยอยออกมาตรการต่อเนื่องหลังเดินงานด่วนอุ้มผู้มีรายได้น้อย-เกษตรกร-SMEs ฟื้น"โอท็อป"กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เร่งโครงสร้างพื้นฐานระบบรางหวังกระจายความเจริญทุกหย่อมหญ้า ระดมมาตรการจูงใจดึงต่างชาติขนาดใหญ๋เข้าลงทุนผลักดันตั้งคลัสเตอร์ขนาดใหญ่หลากหลายอุตสาหกรรม ร่วมมือสถาบันการศึกษาสร้าง"นักรบเศรษฐกิจ"ออกลุยตลาดโลก พร้อมระดมสมองฝ่ายเศรษฐกิจวางแนวทางการปฏิรูปการเงินการคลัง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย" ว่า ขออย่าให้ตื่นตระหนกหรือกังวลกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้มากจนเกินไป เพราะเศรษฐกิจไทยยังแค่ส่อแววการอ่อนแอ แต่ยังไม่มีวิกฤติการณ์เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรประมาทเช่นกัน โดยรัฐบาลกำลังเตรียมทยอยใช้มาตรการต่างๆ ออกมาตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และวางแนวทางเพื่อการเติบโตในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน

"ประเทศยังไม่ใช่วิกฤต เป็นแค่ขาดความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจชะลอตัว แต่หากปล่อยไว้จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อการขยายตัวได้ในอนาคต"นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด มองว่า ปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยคือความสามารถในการแข่งขันของประเทศอยู่ในภาวะถดถอยลงมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เนื่องจากขาดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน และการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกถึง 60% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องหันมาเน้นการพึ่งพาการบริโภคในประเทศตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเมื่อเกิดปัญหากับการส่งออกก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทันที จึงต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างสมดุลทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

"ลักษณะนี้อย่างในประเทศอังกฤษถึงแม้จะขาดดุลเรื่องการส่งออกตลอด แต่พอดูในภาพรวมอังกฤษจะเกินดุลจากการเติบโตภายในประเทศ ได้แก่ การท่องเที่ยว การบริการ จะได้ดุลเหล่านี้มาชดเชย" นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนใน 2 จุดใหญ่ คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และ SMEs ซึ่งหลังจากเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในสัปดาห์หน้าแล้ว และอีก 2 สัปดาห์หลังจากนั้นจะเสนอมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของ SMEs ให้ ครม.พิจารณา นอกจากนั้นจะมีการฟื้นโครงการโอท็อปเป็นการผลักดันให้ระดับหมู่บ้านและตำบลสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ส่วนการเบิกจ่ายกระทรวงการคลังจะเข้าไปดูแลกระบวนการที่ทำให้เม็ดเงินกระจายลงสู้ระดับล่างโดยตรงทันที

"แนวทางการพัฒนาประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นกลไกสำคัญในอนาคตที่แต่ละจังหวัดจะต้องมีแนวทางของตนเองว่าในท้องที่ของตัวเองมีอะไรดีโดยไม่รอส่วนกลาง โดยเตรียมฟื้น"โอท็อป"กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นดันหมู่บ้าน-ตำบลเป็นแกน" นายสมคิด กล่าว

ขณะที่ภาครัฐจะเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปในทุกพื้นที่ของเส้นทาง โดยจะมองเพียงเรื่องของผลตอบแทนของโครงการไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดมูลค่าเพิ่มตามมาในอนาคต โดยจะเน้นการลงทุนแบบ PPP ที่ไม่เกินฐานะทางการคลัง ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง มีความถนัดในเรื่องนี้เพราะมาจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(IFCT)

"เป็นช่วงเวลาที่ดีในการวางรากฐานของประเทศ ผมจะไม่รอข้อเสนอของ สปช.แต่จะเร่งดำเนินการไปก่อนเลย รัฐบาลต้องเป็นตัวนำปฏิรูป รัฐมนตรีต้องเป็นตัวผลักดัน" นายสมคิด กล่าว

นอกจากนั้น งานสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้มอบหมายให้ รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาแนวทางและมาตรการต่างๆ ทุกด้านที่จะสามารถจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างเวียดนามได้ทุ่มทุกอย่างเพื่อดึงค่ายซัมซุงเข้าไปตั้งฐานการผลิตใหม่ ดังนั้นประเทศไทยก็จะช้าไม่ได้ เพราะเราได้เปรียบเรื่องภูมิศาสตร์ และในอนาคตอาจจะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสินค้าแต่ละรายการ เช่น สินค้าฮาลาล ไอที ยางพารา นอกเหนือจากการพัฒนาในรูปแบบของคลัสเตอร์ใหญ่ ร่วมมือสถาบันการศึกษาพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อสร้างนักรบเศรษฐกิจไปต่อสู่ในตลาดโลก

"ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแท้จริงจากภายใประเทศ วันนี้เศรษฐกิจภายนอกไม่ค่อยดีจึงเป็นโอกาสที่จะกลับมาส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ" นายสมคิด กล่าว

สำหรับการส่งออกต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างแบรนด์เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาที่รวดเร็ว เกิดนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จมาแล้วในเรื่องไอทีที่เปิดให้สถาบันการศึกษาจะต่องประเทศเข้าไปทำวิจัยแล้วนำผลที่ได้มาต่อยอด

"ต้องเร่งเรื่องคลัสเตอร์ ไม่ใช่เอาสินค้าทุกตัวไปแข่ง แต่จะต้องมีบางตัวที่เอาไปแข่งและสู้เขาได้" นายสมคิด กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้กำลังปรับปรุงเรื่องสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือน แล้วเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อนที่จะนำออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ

นายสมคิด ยังเปิดเผยว่า รัฐบาลจะผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้สอดรับกับแนวทางต่างๆ โดยขณะนี้ทีมเศรษฐกิจ พร้อมด้วยที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คนปัจจุบัน และว่าที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ รวมทั้งอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องได้หารือเรื่องการปฏิรูปการเงินการคลังร่วมกัน ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน

"ผมไม่ได้มุ่งหวังว่าออกมาตรการเศรษฐกิจแล้วกระตุ้น GDP ให้โตได้เท่าไหร่เพราะมันเป็นปลายเหตุ เป็นเรื่องเฉพาะหน้า GDP เป็นเรื่องที่ตามมาในภายหลัง....จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญของประเทศ ถ้าทำได้ดีประเทศก็จะพัฒนาไปได้" นายสมคิด กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ