ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคาข้าวปีนี้ฟื้นตัวจากปีก่อน หลังภัยแล้งกระทบผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 28, 2015 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2558 ราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% อาจอยู่ที่เฉลี่ยราว 8,000 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 (YoY) จาก 7,713 บาทต่อตัน ในปี 2557

ทั้งนี้ ในเดือนก.ค.2558 ราคาข้าวเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 8,029 บาทต่อตัน และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนส.ค.2558 แตะระดับเฉลี่ยที่ 8,160 บาทต่อตัน นับเป็นราคาสูงสุดในรอบ 1 ปี ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 ราคาข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 7,775 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 (YoY)

สำหรับในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ ทิศทางราคาข้าวสำหรับข้าวใหม่คือ ตลาดข้าวนาปี 2558/59 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเดือนก.ย.นี้ น่าจะมีราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากผลของภัยแล้งที่ยังกระทบอยู่บ้าง และยังคงต้องจับตาสถานการณ์น้ำต้นทุนในเขื่อนช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ ว่าจะมีผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังปี 2559 เพียงใด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นต่อการปรับตัวของราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ดังนี้ ชาวนาที่สามารถเพาะปลูกข้าวโดยมีปริมาณน้ำเพียงพอ อาจได้รับอานิสงส์จากราคาข้าวที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของผลผลิตข้าวนาปี 2558/59 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนก.ย.2558 ผนวกกับเริ่มมีปริมาณน้ำฝนเข้ามาช่วยบ้าง ทำให้เพาะปลูกข้าวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ประสบภัยแล้งรุนแรง ซึ่งหากราคาข้าวยังคงสามารถรักษาระดับนี้ที่แตะ 8,160 บาทต่อตัน ต่อเนื่องในระยะต่อไป ก็อาจทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้นประมาณ 2,600 บาทต่อครัวเรือน เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (เฉลี่ยครัวเรือนละ 15 ไร่ และอาจเพิ่มขึ้นกว่าจำนวนดังกล่าวในกรณีที่เป็นชาวนารายใหญ่ที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 15 ไร่) และอาจช่วยประคองภาพรวมรายได้ชาวนาในระดับหนึ่งในภาวะที่ชาวนากำลังเผชิญความยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมของรายได้เกษตรกร คาดว่า ราคาข้าวที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ จะยังคงไม่สามารถชดเชยผลของความเสียหายจากปริมาณข้าวที่สูญเสียไปจากภัยแล้ง ทั้งในส่วนของนาปรังปี 2558 และนาปี 2558/59 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดได้ โดยคาดว่า ในปี 2558 รายได้เกษตรกรยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 รายได้ของเกษตรกรหดตัวร้อยละ 12.6 (YoY) ต้องจับตาปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนระยะถัดไป ที่อาจกระทบต่อการปลูกข้าวในฤดูแล้งอย่างข้าวนาปรังปี 2559 ที่มีช่วงการผลิตและเก็บเกี่ยวในเดือนพ.ย.2558-เม.ย.2559 ซึ่งหากปริมาณน้ำยังทรงตัวในระดับต่ำและส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะภัยแล้ง ก็อาจส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปรังปี 2559 และรายได้เกษตรกรที่อาจหายไป แม้ว่าราคาข้าวอาจจะอยู่ในช่วงฟื้นตัวขึ้นแล้วก็ตาม หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำในเขื่อนเขตชลประทานในฤดูแล้ง พบว่า ปริมาณน้ำใช้การได้ในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง (1 พ.ย.2558-30 เม.ย.2559) โดยกรมชลประทาน คาดว่า จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักของไทยในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา1 อยู่ที่ราว 3,900-5,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับปริมาณน้ำที่ต่ำกว่าช่วงฤดูแล้งในปีที่ผ่านมา (ช่วงเดือนพ.ย.2557-เม.ย.2558) ที่อยู่ที่ 6,777 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือในการงดปลูกข้าวนาปรังปี 2558 (จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรเพียง 400 ลบ.ม.) ทำให้ประเมินได้ว่า การปลูกข้าวนาปรังปี 2559 ซึ่งเป็นฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง อาจยังคงต้องประสบกับภาวะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนยังคงอยู่ในระดับต่ำ และอาจไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังปี 2559 ได้ กระนั้น หากปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนมีระดับต่ำกว่า 3,900-5,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ก็อาจยิ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นต่อการปลูกข้าวนาปรัง ท้ายที่สุดจะส่งผลต่อภาพรวมรายได้ชาวนาที่อาจยังอยู่ในภาวะยากลำบากต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของชาวนาให้หายไป โดยรายได้จากการปลูกข้าวนาปรังในปี 2556-2558 เฉลี่ยอยู่ที่ราว 75,000 ล้านบาท

ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชฤดูแล้งอื่นที่มีอายุสั้นและใช้น้ำน้อยทดแทน อาทิ พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น อันเป็นการลดความเสี่ยงและเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งหน้า หรือควรมีการเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำที่มีน้อยในแนวทางอื่นๆ ที่พอทำได้

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความยากลำบากของเกษตรกรที่กำลังเผชิญ ล่าสุด ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลได้มีแนวทางในการเร่งดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร/ผู้มีรายได้น้อยอย่างเร่งด่วนทั้งในส่วนของการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ ตลอดจนเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อกระจายเม็ดเงินลงสู่ภาคชนบทให้เร็วที่สุด อันจะเป็นการสร้างกำลังซื้อให้กับกลุ่มเกษตรกร/ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งผลของมาตรการดังกล่าวนี้ก็น่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้ของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่ราคาข้าวจะสามารถยืนรักษาระดับราคาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องได้ อาจต้องพิจารณาปัจจัยภายนอกประเทศร่วมด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางราคาข้าวไทย ที่คาดว่าราคาอาจจะอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวขึ้น อาทิ ภัยธรรมชาติในประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักอย่างอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าว กระทบต่อยอดการส่งออกและสถานการณ์การค้าข้าวโลกที่อาจไม่คึกคักนัก เนื่องจากต้องมีการสำรองผลผลิตข้าวไว้บริโภคในประเทศก่อน เพื่อเป็นการประกันความมั่นคงด้านอาหาร ก็อาจดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ความกังวลถึงแนวโน้มราคาข้าวที่อาจเพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้นในประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ จีน เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ที่ก่อให้เกิดภัยแล้ง ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างส่งสัญญาณความต้องการสต๊อกข้าวเพิ่มขึ้น เพราะเกรงว่าราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดว่า ราคาข้าวในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลัง อาจปรับเพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก และอาจปรับพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 หากปรากฏการณ์เอลนินโญ่มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ