(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ส.ค. 58 CPI -1.19% ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 1, 2015 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ศรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ในเดือน ส.ค.58 อยู่ที่ 106.33 ลดลง 1.19% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.57 โดยเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่งผลให้ CPI ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.58) ลดลง 0.89% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งราคาก๊าซหุงต้มที่ปรับตัวลดลงจากมติปรับลดราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากเพียงพอต่อการบริโภค
"อัตราเงินเฟ้อยังคงปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 จากสาเหตุที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่ปรับลดลงจากมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน รวมทั้งการปรับราคาลดลงของสินค้ากลุ่มอาหารสดตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากเพียงพอต่อการบริโภค" นายสมเกียรติ กล่าว

ขณะที่ตลาดคาดดัชนีเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.จะอยู่ที่ -0.96 ถึง -1.1%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน ส.ค.58 อยู่ที่ 105.96 เพิ่มขึ้น 0.89% จากเดือน ส.ค.57 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาสินค้าทั่วไปยังเพิ่มขึ้นและทรงตัว โดยมีจำนวนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 148 รายการ ทรงตัว 191 รายการ ขณะที่จำนวนสินค้าที่ราคาลดลงมีจำนวน 111รายการ

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ส.ค.58 อยู่ที่ 114.51 เพิ่มขึ้น 1.27% จากเดือน ส.ค.57 และเพิ่มขึ้น 0.09% จากเดือน ก.ค.58 ตามการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเหนียว ปลาน้ำทะเลสด เช่น ปลาทู ไข่ไก่ เนื้อสุกร และไก่สดมีราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงปลดระวางแม่ไก่ รวมทั้งผักสดและผลไม้ เช่น ผักบุ้ง หัวหอมแดง ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก เงาะ และฝรั่ง มีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ราคาอาหารโทรสั่ง (delivery) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.94 หดตัว 2.52% จากเดือน ส.ค.57 และลดลง 0.39% จากเดือน ก.ค.58 จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 และก๊าชยานพาหนะ (LPG) รวมทั้งการปรับตัวลดลงของราคาก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสาร รถประจำทางปรับอากาศ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน และค่าของใช้ส่วนบุคคล เช่น ยาสีฟัน ปรับราคาสูงขึ้นเช่นกัน สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือ นายสมเกียรติ คาดว่า ยังมีโอกาสติดลบต่อเนื่องได้อีก เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลงจากที่ในช่วงปลายปีปริมาณการผลิตน้ำมันจากแหล่งต่างๆ จะออกสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งผิดไปจากก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินไว้ว่าในช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์/บาร์เรลไปจนถึงสิ้นปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้มากที่อัตราเงินเฟ้อของปีนี้จะติดลบ เพราะก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะลงไปต่ำกว่าระดับนี้ ในขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ คงไม่น่าจะอ่อนค่ามากไปกว่าระดับปัจจุบัน

"เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ แต่เรื่องราคาน้ำมันยังมีโอกาสลงได้อีก ดังนั้นก็มีโอกาสเป็นไปได้มากที่เงินเฟ้อปีนี้จะติดลบ เพราะตอนนี้ค่า FT ก็ลง ราคา LPG ก็ลง ซึ่งตัวนี้จะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคติดลบต่อไป" นายสมเกียรติ กล่าว

ดังนั้นในเดือนหน้ากระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะปรับลดลงจากปัจจุบันที่วางกรอบไว้ที่ 0.6-1.3% ซึ่งนอกจากราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นด้วย เช่น เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ที่ปัจจุบันอ่อนค่าลงไปจากสมมติฐานเดิม

"ตอนนี้ตัวเลขของจริงมันต่ำกว่าสมมติฐานเดิมที่เราตั้งไว้ ดังนั้นเดือนหน้าคงจะต้องทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อของปีนี้กันใหม่ แนวโน้มก็คงต้องปรับลดลงกว่าคราวก่อน เพราะตอนนี้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงไปเยอะ...ช่วงนี้น้ำมันอิหร่านก็จะมาอีก และจะขายแบบไม่สนใจราคา เชลล์ออยก็จะมาอีก ก็จะกดให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำลงอีก เดิมเราเคยคาดว่าปลายปีช่วงฤดูหนาวราคาน้ำมันจะเริ่มปรับขึ้น แต่ตอนนี้แนวโน้มแบบนั้นคงไม่เกิดในปีนี้แล้ว" นายสมเกียรติ กล่าว

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 ไว้ในกรอบ 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) เติบโต 3-4% ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อยู่ที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ระดับ 32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้ต้องติดลบจริงก็ไม่ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ถ้าเป็นการติดลบที่มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ในทางกลับกันสิ่งที่ควรจะต้องเป็นห่วงมากกว่าคือ ราคาน้ำมันลดลงแล้วแต่สินค้าอื่นๆ ไม่ปรับลง ซึ่งเท่ากับเป็นการไม่สะท้อนตามต้นทุนที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปัจจุบันยังคงเป็นบวก ซึ่งถือว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ปัจจุบันประชาชนจะเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

"ถ้าเงินเฟ้อติดลบเพราะราคาน้ำมันก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเท่าที่ดูในปัจจุบันราคาน้ำมันมีส่วนมาก(ที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ) ไม่เคยมีมาก่อนที่ราคาน้ำมันลงไปถึง 25%" นายสมเกียรติ ระบุ

อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 58 ติดลบจริงก็จะถือว่าเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 52 ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 0.9% ซึ่งการติดลบของเงินเฟ้อในปีนั้นเป็นผลมาจากการเริ่มโครงการลดค่าครองชีพให้ประชาชน เช่น โครงการรถเมล์ รถไฟฟรี รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ช่วงนั้นอยู่ในระดับต่ำประมาณ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ