กูรูธุรกิจมองพื้นฐานไทยยังดี แต่ต้องแก้ขัดแย้ง-ปฏิรูปศก.-ใช้ R&D ช่วยเพิ่มศักยภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 3, 2015 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ "ศาสตราจารย์สังเวียนฟอรั่ม 2015" ในหัวข้อ "ก้าวไปข้างหน้า...กับทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต" ว่า การที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตในระดับ 5% ในอนาคต และก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น จะต้องมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรในประเทศให้มีศักยภาพเพิ่มอย่างมาก โดยเฉพาะบุคคลากรของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องเป็นผู้นำ

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐรวมไปถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก เป็นผลมาจากการที่มีรัฐบาลเข้ามาอุปถัมภ์ ทำให้มีการเติบโตขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรของภาครัฐยังไมดีพอ เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างของพนักงานรัฐ ซึ่งมีการปรับเพิ่มขึ้น 300% ในช่วง 10 ปี

"ระบบเศรษฐกิจของเรายังเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ยังต้องพึ่งพาภาครัฐ ทำให้การเติบโตไม่ได้มาจากประสิทธิภาพของบุคลากรในประเทศ จะเห็นได้จากหน่วยงานรัฐที่มีการเติบโตมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่มีภาครัฐช่วยอุปถัมภ์ไว้ก็จะไม่มีการเติบโต การที่เราจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีในระดับ 5% เราต้องพัฒนาความสามารถของบุคลากรเราให้ดีและแข่งขันกับคนอื่นได้ แต่มองว่าตอนนี้หากจะโตในระดับ 5% ใด้จะต้องใช้เวลานาน ซึ่งเราต้องมีการ Reform ระบบเศรษฐกิจเราใหม่"นายบรรยง กล่าว

อย่างไรก็ดี มองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแรง เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ไนระดับที่ดี สถาบันการเงินยังมีความแข็งแกร่ง และภาคเอกชนยังมีความแข็งแรงในเรื่องของฐานะทางการเงินและมีหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ แต่ในปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศที่มีปัจจัยลบและความเสี่ยงค่อนข้างมาก ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว โดยอย่างดีที่สุดมองว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ 3%

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ไม่มากนั้นเป็นผลมาจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาหลายครั้ง ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเกิดการชะงักงัน ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และมีการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างเต็มที่ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ไม่มาก โดยปัจจัยที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยได้ คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบบายประชานิยมต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการขาดทุนของภาครัฐ แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยหนุนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศได้

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้น้อย ส่งผลให้ฉุดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนรวมขยายตัวได้เพียง 4.7% ในขณะที่ประเทศอินเดียมีการขยายตัวได้ 7.5% ประเทศจีนขยายตัวได้ 6-8% ซึ่งรวมแล้วอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียรวมจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6% ในปีนี้ ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากการประเมินของ IMF ปีนี้จะขยายตัวที่ 3.3%

นายบรรยง กล่าวต่อว่า การฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องมีการเริ่มต้นปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทยก่อน เนื่องจากรัฐวิสาหกิจไทยในปัจจุบันยังมีการให้อัตราผลตอบแทนที่ยังต่ำมากไม่ถึง 4% เนื่องจากการบริหารจัดการงานต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐวิสาหกิจไทยเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรในองค์กรรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบัน และลดการพึ่งพิ่งรัฐ เพื่อที่จะเป็นการเติบโตได้เองภายในองค์กร

นอกจากนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยยังจะต้องลดการผูกขาดจากภาครัฐและการใช้อำนาจของรัฐให้ลดลง เพื่อที่จะทำให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น และทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำลง อีกทั้งการปล่อยให้กลไกของเศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาดให้มากที่สุด โดยภาครัฐเป็นผู้วางกฏกติกาต่างๆ เพื่อให้ทุกคนดำเนินงานอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังจะต้องมีการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากกว่าปัจจุบัน

"ตัวอย่างที่ดีในการปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ สิงคโปร์ ที่ไช้ระยะเวลา 50 ปีในการปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ จนเป็นประเทศชั้นนำของโลก และมีรายได้ประชากรต่อหัวสูงแซงอเมริกา เพราะเขามีการปล่อยให้กลไกทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดมากที่สุด ภาครัฐเป็นคนวางกฏกติกา และเขาไม่รังเกียจต่างชาติ มีการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้"นายบรรยง กล่าว

ส่วนปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศนั้น จะต้องไม่มีการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนในหลายเรื่อง ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งจนนำไปสู่ความแตกแยก ทำให้เป็นสิ่งที่ฉุดขีดความสามารถ แม้ว่าพื้นฐานโดยรวมจะยังอยู่ในระดับที่ดีทั้งด้านแรงงาน ภาคการเงินที่ยังมีความเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าห่วงในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังไม่ได้มีการลงทุนมากนักในปัจจุบัน ดังนั้น การจะรักษาฐานของเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งต่อเนื่อง นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ควรจะมีการพัฒนาด้านบุคลากรด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อดึงศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ออกมาใช้อย่างเต็มที่

นายเทวินทร์ กล่าวว่า การปฎิรูปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชน โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมายของประเทศ และนำเป้าหมายนั้นลงไปสู่แผนการปฎิบัติ โดยล่าสุดไทยก็เริ่มดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว หลังได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เพื่อนำแผนไปสู่ภาคการปฎิบัติ

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี มีเป้าหมายใหญ่ 5 ด้าน ได้แก่ การเป็นประเทศที่มีรายได้ขั้นสูง, การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม, การก้าวเข้าสู่สังคมสะอาดที่มีการใช้ชีวิตไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม, การดูแลประชากรอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และการเน้นความมั่นคงของประเทศ ทั้งในด้านความปลอดภัย พลังงาน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานต้องให้มีความต่อเนื่องจึงจะทำให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้สำเร็จได้

ขณะที่เป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ได้วางยุทธศาสตร์รองรับด้วยการมีคัสเตอร์ด้านต่างๆทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตร และการบริการ

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) กล่าวว่า การที่ไทยจะหลุดพ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income trap) นั้นควรจะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านงานวิจัย(R&D) มากขึ้น เพราะจะช่วยเพิ่มมาร์จิ้นและขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันมากขึ้น โดยล่าสุดไทยก็เริ่มให้ความสำคัญโดยวางเป้าหมายจะให้มีการลงทุนด้าน R&D ราว 1% ของจีดีพี ภายในปี 60 ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นภาคเอกชนเป็นคนนำและมีภาครัฐให้การสนับสนุน

นอกจากนี้ ยังควรจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้เพิ่มมากขึ้น จากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาไทยขาดการลงทุนในเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลานาน สังเกตจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่เพิ่งจะกลับมาเติบโตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และส่วนใหญ่เป็นการเติบโตจากงานภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐยังไม่มีมากนัก

นายกานต์ ยังแสดงความเป็นห่วงถึงข้อจำกัดขีดความสามารถของประเทศอีกด้านหนึ่ง คือต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้าที่ปัจจุบันของไทยนับว่ามีระดับราคาที่แพงกว่าเพื่อนบ้าน โดยอยู่ที่ระดับมากกว่า 3 บาทเศษ/หน่วย และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 5 บาท/หน่วยใน 5 ปีข้างหน้า จากข้อจำกัดของการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เทียบกับเวียดนาม ปัจจุบันมีค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2 บาทเศษ/หน่วย และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 3 บาท/หน่วยใน 5 ปีข้างหน้า เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ