รมช.คลัง มั่นใจภาระงบฯ ดูแลสวัสดิการหลังเกษียณอยู่ในกรอบที่ดูแลได้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ผลกระทบเชิงบวกของแผนการขยายอายุเกษียณราชการต่อระบบบำเหน็จบำนาญของไทย" ในงานสัมมนา "เงินใช้เกษียณ ความรับผิดชอบของใครทำอย่างไรให้พอ" จัดโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)ว่า รัฐบาลพยามดูแลและสนับสนุนการออม ทั้งการสมบทเงินประชาชนในกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งรับความสนใจจากประชาชนสมัครเป็นสมาชิกจำนวนมาก โดยในช่วง 1 เดือน มีประชาชนทยอยสมัครเป็นสมาชิกแล้วกว่า 2.8 แสนราย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกทั้งสิ้น 5 แสนราย

นอกจากนี้ ในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเข้ามาดูแลด้านสวัสดิการของประชาชนด้านต่างๆ เช่น ภาระเบี้ยยังชีพ และบำเหน็จบำนาญ โดยในปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2% ของ GDP และคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า งบประมาณในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3% ของ GDP ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมดูแลบริหารจัดการให้ประเทศมีรายได้เพียงพอในการดูผู้เกษียณอายุและคนชราให้เพียงพอและยั่งยืน

"รัฐบาลเชื่อว่าภาระการดูแลสวัสดิการของประชาชนที่เพิ่มขึ้น จะอยู่ในกรอบที่ดูแลได้ เพราะที่ผ่านมา ได้มีการวางระบบในการดูแลผ่านกองทุน และประกันต่างๆ ทำให้ในส่วนนี้กลายเป็นภาระกับงบประมาณน้อยลง" นายวิสุทธิ์ กล่าว

โดยปัจจุบัน รัฐบาลมีภาระจ่ายดูแลผู้เกษียณอายุทั้งระบบบำนาญข้าราชการ 2.2 ล้านคน คิดเป็นภาระงบถึง 60% การจ่ายเงินเบี้ยคนชรา 7.7 ล้านคน คิดเป็นภาระงบ 20% และภาระส่วนเหลือที่อีก 20% เป็นการจ่ายสมทบให้กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่มีสมาชิก 11 ล้านคน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ตอนนี้มีสมาชิก 3 แสนคน คาดสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 5 แสนคน จากแรงงานนอกระบบทั้งหมด 25 ล้านคน

ด้านนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ในปีนี้มั่นใจว่าการลงทุนของ กบข.จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผลตอบแทนจากการลงทุนจะชนะผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2.5% ซึ่งปัจจุบันผลตอบแทนการลงทุนของ กบข.ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนก.ย.58 อยู่ที่ 2.5-2.7% เนื่องจาก กบข.ได้ปรับพอร์ตการลงทุนให้กระจายความเสี่ยงมากขึ้น โดยเน้นลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง 63% เช่น พันธบัตร ตลาดหุ้นไทย 10% และที่เหลือเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก กองทุนอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว จึงเชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อนักลงทุนที่ลงทุนในระยะปานกลางถึงระยาว แต่ในส่วนของการลงทุนระยะสั้นช่วง 1-3 เดือนอาจได้รับผลกระทบบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ