ก.ล.ต.เพิ่มทางเลือกใหม่ในการลงทุนโอนย้าย PVD ไป RMF ได้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 10, 2015 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)หนุนให้ลูกจ้างมีทางเลือกออมเงินอย่างต่อเนื่อง สามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หากนายจ้างเลิกกองทุน หรือลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต. มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการออมการลงทุนในระยะยาว แต่ที่ผ่านมาลูกจ้างประสบปัญหากรณีนายจ้างเลิกกิจการ หรือย้ายงานไปที่นายจ้างใหม่ที่ไม่มี PVD หรือนายจ้างเดิมจำกัดระยะเวลาคงเงิน ทำให้ลูกจ้างต้องนำเงินออกจาก PVD ก่อนเกษียณ และอาจต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก ก.ล.ต. จึงผลักดันให้เกิดทางเลือกใหม่ สามารถเลือกโอนย้ายเงินจาก PVD เดิมไปยัง RMF ได้ เพื่อช่วยให้ลูกจ้างสามารถออมเงินต่อเนื่องได้เท่าที่ต้องการ

ลูกจ้างที่โอนเงินจาก PVD ไปไว้ที่ RMF ตามเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะได้รับประโยชน์จากการออมเงินต่อเนื่องในระยะยาว มีอิสระในการเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากับการคงเงินไว้ใน PVD คือไม่ถูกบังคับให้ต่อเนื่องเหมือน RMF ทั่วไป สามารถนับอายุสมาชิก PVD ต่อเนื่องกับ RMF ได้ เพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีเมื่อมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด โดยเงิน PVD ที่โอนไปนี้ไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลประจำปี

ในเบื้องต้น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด พร้อมที่จะรับโอน PVD ไปยัง RMF ที่มีอยู่เดิม โดยจะมีระบบแบ่งแยกบัญชีและทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนออกจาก RMF ปกติ ในขณะที่บริษัทจัดการกองทุนรวมอื่น ๆ คาดว่าจะทยอยปรับปรุงระบบงานภายในเพื่อรองรับการบริการนี้ตามมา

การปรับเกณฑ์ครั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เพื่อรองรับเรื่องการโอน PVD ไป RMF ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 4 ซึ่งร่างประกาศจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป

“ก.ล.ต. ส่งเสริมให้คนไทยมีการออมและลงทุนในระยะยาว เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงหลังเกษียณอายุ การแก้ไขหลักเกณฑ์รองรับการโอนเงินจาก PVD ไป RMF นี้ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้"นายรพี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ