พาณิชย์ยันมีระบบตรวจสอบประมูลข้าวเกรดซีเข้ม ด้านเซอร์เวเยอร์บุกค้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 23, 2015 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวภายหลังชี้แจงเงื่อนไขการประมูลข้าวสู่ภาคอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1 ปริมาณ 37,412 ตัน ว่า มีผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แสดงความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก โดยการประมูลครั้งนี้กำหนดชัดเจนว่าข้าวที่ประมูลต้องนำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น และมีมาตรการป้องกันไม่ให้กลับเข้าสู่ตลาดบริโภคของคนและสัตว์ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบต่อราคาข้าวในตลาดปกติ
"ได้กำหนดระบบการติดตามและตรวจสอบชัดเจน โดยข้าวที่ประมูลไปจะมีการซีลแน่นหนา และในการขนส่งก็จะมีระบบจีพีเอสติดตามว่าข้าวที่ออกจากโกดังไปแล้ว เดินทางไปสู่ภาคอุตสาหกรรมตามที่ระบุไว้หรือไม่ และเมื่อข้าวเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมแล้ว ก็จะมีการส่งทีมเข้าไปตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวหลุดรอดเข้าสู่ระบบปกติ มั่นใจว่าสามารถควบคุมดูแลได้" นางดวงพร กล่าว

ทั้งนี้จะเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นเอกสารเพื่อตรวจสอบหลักฐานในวันที่ 30 พ.ย.58 โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้ว จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 1 ธ.ค.58 และเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาในวันเดียวกัน และจากนั้นจะเปิดซองราคา สำหรับราคาในการประมูลข้าวตกเกรดนั้นมีคณะทำงานประเมินราคา และได้กำหนดราคามาตรฐานไว้แล้ว โดยพิจารณาจากราคาวัตถุดิบของแต่ละอุตสาหกรรมใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา และมั่นใจว่ารัฐจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจำหน่ายข้าวในครั้งนี้

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่สนใจเข้าร่วมการประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/2558 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.58-1 ธ.ค.58 ซึ่งข้าวที่นำออกมาจำหน่ายเป็นข้าวในสต็อกของรัฐที่มีคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานซึ่งไม่เหมาะแก่การบริโภคไม่ว่าสำหรับคนหรือสัตว์ที่เก็บรักษาอยู่ในคลังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวมทั้งสิ้น 10 คลัง ซึ่งแต่ละคลังมีปริมาณตั้งแต่ 1,000 ตัน ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 7,000 ตัน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นครศรีธรรมราช นครราชสีมา สุรินทร์ พิษณุโลก ชัยนาท และนครสวรรค์ ปริมาณรวม 37,412.68 ตัน

ทั้งนี้ การประมูลข้าวในสต็อกของรัฐดังกล่าว เป็นการทดลองการระบายข้าวที่มีคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานจากคลังขนาดเล็กที่มีปริมาณข้าวไม่มากเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ เพื่อเป็นการทดสอบกระบวนการประมูลข้าวสู่อุตสาหกรรม มาตรการกำกับดูแล และกลไกภาคปฏิบัติในการควบคุมไม่ให้ข้าวดังกล่าวรั่วไหลสู่วงจรข้าวบริโภคตามปกติ ผู้ที่เข้าร่วมประมูลจึงต้องเป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ รวมทั้งต้องมีการกำกับดูแลที่รัดกุม โดยการขนย้ายทุกขั้นตอนจะต้องมีหนังสืออนุญาตและปฏิบัติตาม “ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การควบคุมการขนย้ายและจัดทำบัญชีคุมข้าวสารในสต็อกของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวมีมติเห็นชอบให้ระบายสู่อุตสาหกรรม ปี 2558" ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 รวมทั้งจัดให้มีการสุ่มตรวจสอบบัญชีคุมสินค้าแสดงปริมาณการได้มาและปริมาณที่ใช้ไป

ขณะเดียวกัน นางมลฑาทิพย์ ไวยะวรรณะ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบสินค้าเกษตรไทย(ซอร์เวเยอร์) พร้อมด้วยบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว ได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการเปิดประมูลข้าวเสียเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยขอให้ชะลอการเปิดประมูลออกไปก่อน เพื่อให้ตรวจสอบคุณภาพข้าวใหม่อีกครั้งให้ชัดเจนว่าเป็นข้าวเสียทั้งหมด หรือมีข้าวคุณภาพดีปะปนอยู่หรือไม่ เพื่อไม่ให้รัฐขายข้าวในราคาต่ำ ซึ่งมีตัวแทนจากกรมการค้าต่างประเทศมารับหนังสือ

"ข้าวที่นำออกมาประมูลครั้งนี้น่าจะมีข้าวดีปะปนอยู่กว่า 50% ของปริมาณข้าวทั้งหมด และเห็นควรให้มีการตรวจสอบซ้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าปกติ และถือเป็นการยื่นหนังสือขอให้ชะลอการระบายข้าวเสียเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นครั้งที่ 4 หลังจากยื่นมาก่อนหน้านี้แล้ว 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากกรมการค้าต่างประเทศ" นางมลฑาทิพย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ