(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยผลเยือนโอมาน-อิหร่านดีเกินคาด ตั้งเป้าขยายการค้า-ลงทุนเป็นประตูสู่ตอ.กลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 5, 2016 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยผลการนำภาคเอกชนเยือนรัฐสุลต่านโอมานและสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ภายใต้การนำคณะฝ่ายไทยของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 4 ก.พ.59 ว่า ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง โดยส่งผลให้เกิดการกระชับการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านต่างๆ ที่จะเกื้อกูลกันและกัน ทั้งในระดับรัฐบาลและเอกชน พร้อมตั้งเป้าการค้ากับโอมานให้ขยายตัวถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีก 3 ปี ข้างหน้า สำหรับการค้ากับอิหร่านตั้งเป้าให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 5 ปี โดยไทยสามารถเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนและ RCEP และเป็นความมั่นคงด้านอาหารให้กับโอมานและอิหร่านได้ ในทางกลับกัน โอมานและอิหร่านสามารถเป็นประตูสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง CIS และแอฟริกาและความมั่นคงด้านพลังงานให้กับไทยได้

สำหรับการเดินทางไปหารือกับโอมานนั้น กระทรวงพาณิชย์สองฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายการค้าให้ขยายตัวถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีก 3 ปี ข้างหน้า และจะมีการตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ FTA ระหว่างไทย-GCC สำหรับการลงทุนที่เป็นโอกาสสำหรับไทยและโอมานที่จะพัฒนาร่วมกัน ได้แก่ ปิโตรเคมี ประมง อาหารทะเลแปรรูป อาหารฮาลาล การท่องเที่ยว บริการด้านสุขภาพ เป็นต้น นอกจากโอกาสในการเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องให้ร่วมมือกันไปขยายตลาดในประเทศที่สาม โดยใช้ Free Zone ของโอมาน และ SEZs ของไทยเป็นจุดกระจายการค้าและการลงทุน นอกจากนั้น โอมานให้ความสนใจในกองทุน Future Fund (Thailand’s Infrastructure Fund) ของไทยอีกด้วย

ส่วนกิจกรรมของภาคเอกชนในโอมานนั้น กลุ่มธุรกิจกว่า 20 บริษัท จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้พบปะหารือและทำความรู้จักกับสภาหอการค้าและการลงทุนของโอมาน โอมานให้ความสนใจในการทำการค้าและการลงทุนกับไทยนอกเหนือจากสาขาหลักด้านพลังงานแล้ว ยังสนใจให้ไทยไปลงทุนในภาคบริการ ด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และการธนาคาร

สำหรับการเดินทางไปหารือกับอิหร่านนั้น ไทยและอิหร่านได้ตั้งเป้าหมายทางการค้าร่วมกันไว้ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 5 ปี โดยรองนายกรัฐมนตรีจะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงทางการค้าระหว่าง รมว.พาณิชย์ของไทย (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) กับ รมว.อุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการค้า ของอิหร่าน (Mr. Mohammad Reza Nematzadeh) ความตกลงทางการค้าไทย – อิหร่าน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้า รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee- JTC) ระหว่างไทยกับอิหร่าน เพื่อเป็นกลไกสำหรับหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจการค้า ลดปัญหาอุปสรรคระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Joint Trade Committee ครั้งที่ 1 สำหรับประเด็นการจัดทำ Preferential Trade Agreement (PTA) เพื่อเปิดตลาดการค้ากับอิหร่าน สองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งหารือและมีข้อสรุปภายใน 3 เดือน

ทั้งนี้ ไทยและอิหร่านเห็นพ้องให้มีการกระชับการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมที่จะเกื้อกูลกันและกัน อาทิ อาหารแปรรูป อาหารฮาลาล เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ดิจิทัล รวมถึงนาโนเทคโนโลยี ดิจิทัล ยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนา SMEs ร่วมกัน ทั้งนี้ ไทยมีโอกาสการขยายตลาดสินค้าฮาลาลในอิหร่าน เนื่องจากกว่าร้อยละ 70 ของประชาชนเป็นมุสลิม ในการนี้ ฝ่ายอิหร่านยินดีให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลและถ่ายทอดมาตรฐานสินค้าอาหารฮาลาลให้กับไทย

ด้านการลงทุนนั้น อิหร่านสนับสนุนให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนใน Free Zone และ Special Economic Zone โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 25 ปี สามารถนำเข้าเครื่องจักรได้โดยไม่ต้องเสียภาษี และได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ในขณะเดียวกัน นักลงทุนอิหร่านก็สามารถเข้ามาลงทุนใน SEZs ของไทย และขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอิหร่านให้ความสนใจเข้ามาลงทุนใน SEZ ทางตอนใต้ เพื่อวางท่อส่งน้ำมันและก๊าซไปยังเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย

การเยือนอิหร่านของรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีภาคเอกชนไทยรายใหญ่และนักธุรกิจที่สนใจตลาดอิหร่านร่วมเดินทางด้วยรวมทั้งสิ้น 81 บริษัท (รายใหญ่ 26 บริษัท และ SMEs 55 บริษัท) บริษัทรายใหญ่ อาทิ เครือสหพัฒนพิบูลย์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ น้ำตาลมิตรผล บริษัทศรีตรัง บริษัทวงศ์บัณฑิต และบริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ โดยรองนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการเปิดงาน Business Forum และ Business Matching ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการอิหร่าน โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากภาคเอกชนของไทยและอิหร่าน ประมาณ 350 บริษัท (ณ กรุงเตหะราน 200 บริษัท และเมืองอิสฟาฮาน 150 บริษัท) ผลการเจรจาการค้าจาการเยือนครั้งนี้ มีมูลค่าสั่งซื้อขายกันไม่ต่ำกว่า 185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6,700 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อขายข้าวจำนวน 300,000 ตัน (ประมาณ 119.4 ล้านเหรียญ) ยางพาราธรรมชาติจำนวน 20,000 ตัน (25 ล้านเหรียญ) และเป็นการขายสินค้าอื่นๆ ในกลุ่มสินค้าของใช้อุปโภคบริโภค อาทิ อาหาร แฟชั่น ของใช้ภายในบ้าน Health & beauty และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหนัก อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล มูลค่ารวมกันอีกไม่ต่ำกว่า 40.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อิหร่านเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ มีประชากรกว่า 80 ล้านคน เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง และสามารถเป็นฐานกระจายสินค้าไปยังภูมิภาค CIS (ประชากร 100 กว่าล้านคน) ซึ่งไม่มีทางออกทะเล ปัจจุบัน การค้าระหว่างไทยกับอิหร่านยังมีมูลค่าน้อยอันเป็นผลมาจากการถูกคว่ำบาตรจากสหประชาชาติและประเทศมหาอำนาจ โดยในปี 2558 การค้าระหว่างกันมีมูลค่าเพียง 309.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับอิหร่านมูลค่า 125.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศอิหร่านเพิ่งถูกยกเลิกจากการคว่ำบาตร จึงทำให้หลายประเทศมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุน โดยก่อนที่ไทยจะเดินทางไปมีประธานาธิบดีรัสเซีย และประธานาธิบดีจีนเดินทางไปเยือนก่อนหน้าไทย และไทยถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่ได้เดินทางไปเยือน โดยอิหร่านมีความต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทยในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผลการหารือในระดับรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศนั้น อิหร่านพร้อมให้สิทธิประโยชน์นานถึง 30 ปี เพื่อจูงใจให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน และต้องการให้ไทยเข้ามาช่วยในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศอิหร่าน เพราะมองเห็นถึงความเชี่ยวชาญทางด้านงานบริการของไทย รวมถึงให้ไทยไปลงทุนในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ด้านเกษตร และยานยนต์

อย่างไรก็ดี ได้มอบหมายให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการผ่อนปนกฎเกณฑ์ทางการเงินและออกเป็นกฏหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศอิหร่าน ซึ่งการเดินทางไปเยือนในครั้งนี้ถือว่าเป็นผลดีกับภาคเอกชนที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย เพราะได้มีการจับคู่ทางธุรกิจในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารและด้านเกษตร

"เอกชนรายอื่นที่มีความสนใจจะเข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศนี้ สามารถติดต่อผ่านทางกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้...2 ประเทศนี้ เป็นตัวเปิดที่ดีสำหรับตะวันออกกลาง เพราะมีศักยภาพสูงและความต้องการสินค้าของเขาสูงมาก"นายสมคิด กล่าว

พร้อมระบุว่า เตรียมจะเดินทางไปเยือนในอีกหลายประเทศ เริ่มจากประเทศรัสเซีย และเบลารุสในระหว่างวันที่ 22-27 ก.พ.นี้ ซึ่งรัสเซียมีความต้องการในสินค้าเกษตรของไทย โดยการเดินทางไปรัสเซียนี้จะมีคณะของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมเดินทางไปด้วย ขณะที่ช่วงปลายเดือนมี.ค.จะเดินทางไปเยือนประเทศศรีลังกา ตามคำเชิญของประธานาธิบดีศรีลังกาในระหว่างที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยจะมีการพูดคุยโอกาสทางธุรกิจโดยเฉพาะด้านการประมง และจากนั้นจะเดินทางเยือนประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะมีการเจรจาทางด้านการค้า โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่เกาหลีใต้เป็นผู้นำในด้านนี้ รวมถึงหารือในการเปิดสถาบันทางการเงินในเกาหลีใต้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ