(เพิ่มเติม) นายกฯ จี้เร่งแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 11, 2016 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุมว่า ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัญหาของประเทศไทยมาโดยตลอดในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการที่มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นไม่ชัดเจน ส่วนงานด้านการปราบปรามก็ยังไม่เข้าใจในรายละเอียดมากนัก
"เรื่องดังกล่าวไทยดำเนินการแก้ไขมานานกว่า 10 ปี แต่วันนี้ต้องเร่งขับเคลื่อนให้มีความรวดเร็วขึ้นเพราะหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ไทยก็ต้องดำเนินการตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศ"

นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำ ถึงแนวทางแก้ปัญหาใน 3 ข้อหลัก ซึ่งสิ่งสำคัญคือ 1.การป้องกันด้วยการปลูกจิตสำนึก ที่ไม่ใช้ของปลอมและเข้าใจว่ามีข้อกฎหมายบังคับไว้อย่างไร ซึ่งต้องสร้างการเรียนรู้และต้องไปส่งเสริมสินค้าโอท็อปให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ซึ่งเชื่อว่าสินค้าไทยทำได้ดีกว่า เพียงแต่ต้องสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดและดูกำลังซื้อของแต่ละคน หากไม่สามารถซื้อสินค้าแบรนด์ดังได้ก็ต้องไม่ใช้ของปลอม และจะต้องมีการพิจารณามาตรการสำหรับผู้ใช้ของปลอมนอกเหนือจากมาตรการกับผู้ขายเพียงอย่างเดียว

2.การปราบปรามที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งทางตำรวจ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ซึ่งเป็นกลไกระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่ต้องดูแลในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ และต้องพิจารณาว่ากฎหมายมีเพียงพอ หรือหากมีแล้วสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ซึ่งทั้งหมดต้องทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน เพราะหากไม่สามารถทำได้จะไม่ผ่านการประเมินของต่างประเทศ ซึ่งอย่าคิดว่าแม้จะมีกฎหมายแรงที่สุดแล้วจะแก้ปัญหาได้ เพราะคนไทยไม่ชอบกฎหมาย เป็นคนรักอิสระ มีความเป็นประชาธิปไตยและการอ้างถึงหลักสิทธิมนุษยชน

3.การให้บริการการจดสิทธิบัตร ที่ขณะนี้มีเรื่องค้างอยู่ 10,000 รายการ จึงต้องหาแนวทางเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอซึ่งได้สั่งการเรื่องนี้ในที่ประชุม

สำหรับปัญหาขาดแคลนบุคลากรในทุกหน่วยงาน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกหน่วยงานต้องหาทางทำงานร่วมกัน ปรับการทำงานเพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดสรรข้าราชการให้ครบตามอัตราที่ร้องขอทุกตำแหน่ง แม้จะมีการขยายอัตราบ้างแต่มีทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นแต่หากยังมีการขออัตราบุคคลเพิ่ม จะให้ ก.พ.รื้อระบบใหม่ของทุกกระทรวง พร้อมปรับโครงสร้างส่วนราชการ

ทั้งนี้ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะงานด้านปราบปรามที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ

ด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งด้านการป้องปราม การปราบปราม และการสร้างจิตสำนึกให้รู้ถึงคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญา โดยให้มีการดูแลธุรกิจตั้งแต่ต้นทางคือผู้ผลิตสินค้า และจนถึงในระดับปลายทางคือผู้บริโภค พร้อมทั้งให้ทางกระทรวงศึกษาธิการนำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาบรรจุไว้ในเนื้อหาการเรียนการสอนด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการปัญหาด้านบุคลากรของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร ซึ่งปัจจุบันมีผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเพียง 20 คนเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาคำขอขึ้นสิทธิบัตรเป็นหมื่นเรื่อง ซึ่งปัจจุบันมีคำขอด้านสิทธิบัตรและสิ่งประดิษฐ์ประมาณ 8,000 คำขอ และได้มีการตรวจสอบไปแล้ว 2.000 คำขอ ยังค้างอยู่ประมาณ 20,000 คำขอ โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปหาแนวทางเพื่มบุคลากร ซึ่งมีแผนจะเพิ่มบุคลากรจำนวน 120 คนในช่วง 3 ปี และต้องเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านกฏหมายและมีความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมในการที่จะเข้าร่วมข้อตกลงต่างๆ กับทางต่างประเทศ เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) หรือการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP)

อย่างไรก็ตาม การประชุมวันนี้ไม่ได้มีการหยิบยกเหตุการณ์การเข้าจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่จังหวัดสระแก้ว แต่นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ดูแลตลาดตามแนวชายแดนในทุกพื้นที่ พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งการพัฒนาสินค้าไทยหรือสินค้าแบรนด์เนมของไทยให้เป็นสินค้าทางเลือกเพื่อจะมีส่วนช่วยในการลดปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีพื้นที่ที่ยังมีการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่สีแดงอยู่ 25 แห่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครในพื้นที่คลองถม บ้านหม้อ พัฒน์พงศ์ สีลม มาบุญครอง พันธุ์ทิพย์ และสุขุมวิทซอย 3-19 ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และสงขลา

โดยผลการจับกุมจากการทำงานร่วมกันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร ในช่วงปี 2558 สามารถดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ทั้งสิ้น 7,437 คดี และมีของกลางกว่า 3.84 ล้านชิ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ