(เพิ่มเติม) รฟม.คาดเสนอรถไฟสีส้ม (ต.อ.)เข้า ครม.ต้นเม.ย.-ประมูลมิ.ย., ดันม่วงใต้-ส้ม(ตต.)-น้ำเงินส่วนต่อขยายทันปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2016 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) จะนำเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เข้าที่ประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (29 มี.ค.)

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เลื่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันอังคารหน้า (5 เม.ย.) เนื่องจากได้มีการปรับลดวงเงินลงทุนอีก 2 พันล้านบาท เหลือ 9.2 หมื่นล้านบาท จาก 9.4 หมื่นล้านบาท ซึ่ง รฟม.ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วก่อนนำเข้า ครม. โดยได้ปรับลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็น อาทิ การใช้กระเบื้องทั่วไปในการปูผนัง แทนการใช้หินแกรนิต ส่วนพื้นตามสถานีก็ยังใช้หินแกรนิตอยู่ ซึ่งปรับลดวงเงินได้กว่า 200 ล้านบาท

"สายสีส้ม ครม.อนุมัติแล้วให้เวลา 30 วัน ปรับลดราคาไม่ให้ใช้วัสดุต่างประเทศ โดยเราได้ปรับราคาลงมากว่า 2 พันล้านบาท เราส่งเรื่องให้กระทรวงแล้ว" ประธานกรรมการ รฟม.กล่าว

พร้อมระบุว่า หลังจาก ครม.อนุมัติก็คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายใน 3 เดือน หรือประมาณเดือน มิ.ย.59 เพื่อจัดทำร่างประกวดราคา และหาราคากลาง โดยคาดว่าการประกวดราคาจะแบ่งเป็น 5-6 สัญญา โดยรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีระยะทาง 21 กม. โดยเป็นทางใต้ดิน 12 กม. และ ทางยกระดับ 9 กม. มีจำนวนสถานี 17 สถานี

สำหรัลงานเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ ประธานกรรมการ รฟม. กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่จะเตรียมเสนอคณะกรรมการ PPP ว่าจะเลือกเจรจากับผู้เดินรถรายเดิมในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน คือ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) หรือจะเปิดประมูลใหม่ คาดว่าจะรู้ผลภายในปีนี้ เพราะหากจัดหาผู้เดินรถไม่ทันภายในปีนี้จะเสียค่าโอกาสและค่าใช้จ่ายในการดูแลสิ่งปลูกสร้าง โดยตามกำหนดการจะเปิดให้บริการในปี 62

ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. คาดว่า จะเสนอโครงการรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง รวมวงเงินลงทุน 2.05 แสนล้านบาท เพื่อให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการได้ภายในปี 59 เพื่อสามารถใช้มาตรา 44 ให้ รฟม.สามารถดำเนินการออกแบบและประกวดราคาไปพร้อมกับการรออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าว ได้แก่ โครงการถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ กรอบวงเงิน 1.03 แสนล้านบาท (รวมค่าเวนคืนที่ดิน) ระยะทาง 23.6 กม. โดยคณะกรรมการ รฟม.เพิ่งอนุมัติเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างนี้รอผล EIA, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน กรอบวงเงินโครงการ 8.5 หมื่นล้านบาท(รวมค่าเวนคืนที่ดิน) ระยะทาง 16.4 กม. จะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 กรอบวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท (รวมค่าเวนคืนที่ดิน) ระยะทาง 8 กม.

"ทั้ง 3 เส้น คาดว่า รฟม.จะนำเข้าครม.อนุมัติโครงการให้ได้ทันภายในปีนี้" ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าว

ในวันนี้ กระทรวงคมนาคม รฟม. และ กรุงเทพมหานคร(กทม.)ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เรื่องการมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิดต-สะพานใหม่-คูคต และ ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือของหน่วยงานรัฐในการร่วมมือโครงการรถไฟฟ้าที่กระทรวงคมนาคม โดย รฟม. เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา และ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ช่วง เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและกทม. ได้มีความร่วมมือนานแล้ว โดยครั้งนี้เป็นความร่วมมือการเดินรถไฟฟ้านอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง ทั้งนี้ กทม.ได้พูดคุยกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ในหลักการแล้วโดยจะเป็นการว่าจ้างเดินรถ

กทม.จะเปิดทดลองให้ใช้บริการในปลายปี 59 จากสถานีแบริ่ง – สถานีสำโรง จำนวน 1 สถานีก่อน ส่วนจะเก็บค่าโดยสารอัตราเท่าไรนั้น ทางกทม.ต้องขอรอดูตัวเลขจำนวนผู้โดยสารจริงเสียก่อน โดยตามผลการศึกษา ในช่วงแบริ่ง –สมุทรปราการ คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร กว่า 1 แสนเที่ยว/วัน ซึ่งจะต้องมีการหารือในสภากรุงเทพมหานคร รวมทั้งภาระค่ากสร้างที่รฟม.ได้โอนย้ายสิ่งก่อสร้างมาให้กทม.

“กทม.ได้คุยเบื้องต้นกับ บีทีเอสแล้ว ส่วนค่าบริการต้องรอคำนวณต้องรอให้บริการ ซึ่งตัวเลขสำคัญก็ต้องดูว่าตัวเลขผู้โดยสารอยู่ที่เท่าไหร่ ...เราตั้งเป้าจะให้บริการสถานีแรก แบริ่ง-สำโรงก่อนภายในปีนี้ “ ผู้ว่า กทม. กล่าว

โครงการก่อสร้างที่ รฟม.ลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ช่วงรวม 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ จำนวน 3.9 หมื่นล้านบาท และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท โดยงานโยธาช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ คืบหน้าไป 80% แล้ว ตามกรอบความร่วมมือโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนขยายนี้กำหนดให้รฟม.เป็นผู้บริหารงานก่อสร้างงานโยธาและส่งมอบพื้นที่ให้กทม. ซึ่ง กทม.จะรับภาระหนี้สิน ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และภาระผูกพันอื่นๆที่ รฟม.ใช้ในการดำเนินโครงการไปพร้อมกันด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สินและทรัพย์สิน รวมทั้งขั้นตอนทางการเงินและการงบประมาณเพื่อทำหน้าที่ประเมินมูลค่าหนี้สิน และทรัพย์สิน รวมทั้งดำเนินการเจรจาตามหลักการที่ตกลงกันไว้ และ แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านเทคนิคและการเดินรถเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการประสานระหว่าง กทม.และ รฟม. เพื่อให้ กทม.สามารถดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบไฟฟ้าและเครื่องกลในช่วงระหว่างการก่อสร้างงานโยธา รวมถึงการพิจารณาเดินรถบางส่วนก่อนการรับมอบโครงการทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ