รมว.พลังงาน เล็งหาข้อสรุปโรงไฟฟ้า SPP ทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาก่อนเสนอ กพช.ต้น พ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 25, 2016 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในต้นเดือน พ.ค.นี้ถึงแนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ด้วยระบบผลิตพลังงานร่วม (Cogeneration) ประเภทสัญญา Firm ซึ่งกำลังจะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาในช่วง 5 ปีข้างหน้า

“คิดว่าประชุม กพช.ครั้งต่อไปก็จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปก่อนประชุม เราต้องนำตัวเลข เอาฐานข้อมูลมาดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ดูข้อมูลการใช้งาน กติกาที่วางไว้ ต้นเดือนหน้าการประชุม กพช.ก็น่าจะได้ข้อยุติ"พลเอกอนันตพร กล่าว

รมว.พลังงาน ย้ำว่าการพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ให้มีการขายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม และลูกค้าอุตสาหกรรมมากที่สุด ขณะที่ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าน้อยที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้ามากนัก

ขณะที่ นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า ที่ประชุมเรื่องดังกล่าวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนของสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในวันนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ โดยแต่ละฝ่ายจะนำข้อมูลที่ได้ไปหารือร่วมกันและนำกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อเป็นข้อสรุปก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม กพช.ที่คาดว่าจะมีขึ้นในต้นเดือน พ.ค.นี้

“การหารือวันนี้ยังไม่จบ แต่ท่านรัฐมนตรีรับไปเพื่อพิจารณา ซึ่งท่านมีความเข้าใจถึงความจำเป็น ปัจจัยต่างๆของผู้ประกอบการ…วันนี้มีการพูดถึงเหตุผลของแต่ละฝ่ายยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งต้องหาข้อตกลงที่สมดุลทุกฝ่ายรับได้ ทางเราก็ต้องพิจารณาและคุยกันเองในสมาคมก่อน"นางปรียนาถ กล่าว

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า SPP ที่จะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในช่วง 5 ปีข้างหน้าราว 25 แห่ง คิดเป็นปริมาณสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากว่า 1,700 เมกะวัตต์ โดยมีปริมาณขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าราว 90 เมกะวัตต์/แห่ง โดยสมาคมยังยืนยันข้อเสนอเดิมที่จะขอปรับลดปริมาณซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาลง 50% เหลือราว 45 เมกะวัตต์/แห่ง หรือรวมประมาณ 900 เมกะวัตต์ อายุ 25 ปี และลดราคาซื้อขายไฟฟ้าลดลงจากเดิม โดยจะปรับลดในส่วนของ capacity charge ลง 30% และลดอัตรา energy charge ลง 3% ขึ้นอยู่กับอัตราค่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าด้วย

โดยเมื่อเทียบอัตราค่าก๊าซฯปัจจุบันที่ระดับ 260 บาท/ล้านบีทียู ก็จะทำให้ได้ค่าไฟฟ้าที่ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 2.88 บาท/หน่วย จากสัญญาปัจจุบันที่ราคาค่าไฟฟ้าอยู่ที่ราว 3.8 บาท/หน่วย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของทางสมาคมฯยังคงแตกต่างจากมติ กพช.ก่อนหน้านี้ที่ให้กลุ่ม SPP ที่จะหมดอายุปรับลดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าลงเหลือ 20% หรือคงเหลือราว 18 เมกะวัตต์/แห่ง และมีราคาค่าไฟฟ้าไม่เกินของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 2 บาท/หน่วย ขณะที่การประชุมในวันนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ยังยืนยันการดำเนินงานตามมติของ กพช.เดิม แต่มีทางเลือกเพิ่มเติม โดยปริมาณขายไฟฟ้าส่วนเกินจาก 20% อาจจะเสนอขายในรูปแบบของการประมูล (bidding)

“วันนี้ยังไม่ final เราชี้แจงเหตุผลของเรา แต่ละฝ่ายก็ชี้แจงเหตุผลของแต่ละฝ่าย เราก็รับข้อเสนอมาหลังจากนั้นก็จะระดมความเห็นเพื่อให้ข้อสรุปก่อนนำเสนอกพช. ซึ่งตอนนี้แนวโน้มดีขึ้นเพราะทุกคนมีความร่วมมือกัน"นางปรียนาถ กล่าว

นางปรียนาถ กล่าวว่า การจะปรับลดปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าให้เหลือเพียง 20% นั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างลำบาก เพราะอาจกระทบต่อการกู้เงินเพื่อใช้ทำโครงการ ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต้องมีขนาด 100-120 เมกะวัตต์/แห่ง ต้องใช้เงินลงทุนราว 6 พันล้านบาท/แห่ง

สำหรับโรงไฟฟ้า SPP ที่จะหมดอายุในช่วงปี 60-61 มีทั้งสิ้น 4 ราย โดยในส่วนนี้เป็นโรงไฟฟ้าของกลุ่ม บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตรวม 281 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้ขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.180 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 60 และได้รับการต่อสัญญาไปแล้ว 3-5 ปี

ด้านนายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่า รมว.พลังงานจะเรียกหารือเพื่อสรุปรายละเอียดดังกล่าวอีกครั้ง ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม กพช.ในต้นเดือน พ.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ