ลีสซิ่งกสิกรไทย โชว์กำไร Q1/59 โต 68% ตามสินเชื่อขยายตัว,คาด H2/59 แนวโน้มตลาดฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 4, 2016 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาสแรก ปี 2559 ของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 20,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 37.38% แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่ง 8,036 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.52% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floorplan) 12,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.18%

สำหรับยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) มียอดรวม 88,193 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.52% ซึ่งสอดคล้องกับสภาพตลาดรถยนต์โดยรวมที่มียอดขายลดลงจากปี 2558 ทั้งนี้บริษัทมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.53% ส่งผลให้บริษัทมีกำไร 165 ล้านบาท เติบโต 68.84%

สำหรับตลาดรถยนต์ในไตรมาสแรกปี 2559 ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยกดดันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ หนี้ครัวเรือนที่สะสมในระดับสูง ภาคการส่งออกที่ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อที่ยังคงดำเนินต่อ รวมถึงการชะลอตัวของยอดขายรถยนต์ที่มีผลจากการทยอยปรับราคารถยนต์ในปีนี้เพื่อรับกับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ส่งผลให้ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังชะลอตัว

อย่างไรก็ตามแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของตลาดสินเชื่อเช่าซื้อจะมีแนวโน้มสดใสมากขึ้น โดยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 0-2% หากเศรษฐกิจมีการปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ ในส่วนตลาดสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วคาดว่าจะมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปีก่อน เนื่องจากราคารถใหม่มีราคาสูงขึ้น จึงส่งผลให้ราคารถมือสองไม่ต่ำมากนัก สำหรับตลาดรถแลกเงิน คาดว่ายังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากปี 2558

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ายอดขายรถยนต์ในปีนี้ จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงหดตัว 5-10% หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 720,000 – 760,000 คัน ในส่วนของกลุ่มรถยนต์ SUV ขนาดเล็ก (B-SUV) อีโคคาร์ และปิกอัพ 1 ตัน ยังเป็นกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเกื้อหนุนให้ทำตลาดได้ดีกว่ารถประเภทอื่น สำหรับ B-SUV ได้รับปัจจัยบวกจากผู้บริโภคโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ที่นิยมรถอเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น ส่วนรถอีโคคาร์ ได้แรงหนุนจากปัจจัยเรื่องราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลง และบางรุ่นในกลุ่มอีโคคาร์เฟส 2 มีการปรับราคาลง ส่วนรถปิกอัพ ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมถึงราคารถปิกอัพส่วนใหญ่ที่ไม่ปรับเพิ่มมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ