สภาพัฒน์ เผยการจ้างงานภาคเกษตร Q1/59 ลดลง รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 30, 2016 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกปี 59 การจ้างงานภาคเกษตรลดลง 2.7% YoY เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา

อนึ่ง ในปี 58 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ภาคการเกษตร หดตัวลดลง 3.8% ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องลงมาอยู่ที่ 113.65 ในเดือน มี.ค.59 จาก 119.9 ในเดือน มี.ค. 57 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ลดลงมาอยู่ที่ 134.07 จาก 147.96 เป็น 134.07 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลงกว่า 460,000 คน ลดลง 3.6%

ขณะที่ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 58 พบว่า รายได้ของครัวเรือนด้านเกษตร เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยมีรายได้ที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% ขณะที่มีรายจ่ายและหนี้สินเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 56 โดยเฉพาะคนงานเกษตรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 40.3%

"ภัยแล้งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ของประเทศ ได้ส่งผลให้ภาคการเกษตรของไทยที่มีประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง โดยมีสัดส่วนคนจนมากที่สุด แรงงานเกษตร 69% มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และกว่า 70% มีการศึกษาระดับประถมและต่ำกว่า ทำให้มีข้อจำกัดในการรับมือกับผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งจะซ้ำเติมต่อปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิต" นายปรเมธี กล่าว

ขณะที่ ในไตรมาสแรก ปี 59 การจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ โดยมีผู้มีงานทำจำนวน 37,684,243 คน เพิ่มขึ้น 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนการจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้น 1.5% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะสาขาการผลิตอุตสาหกรรม ก่อสร้าง ขนส่ง และบริการท่องเที่ยว โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 369,893 คน อัตราการว่างงานเท่ากับ 0.97% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.94% เมื่อไตรมาสแรกปี 58 ค่าจ้างแรงงานที่ไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 1.14% ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนแท้จริงที่ไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 1.64% ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3% โดยผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.2% และผลิตภาพแรงงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้น 2.2%

โดยประเด็นเฝ้าระวังที่มีผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของแรงงาน ได้แก่ 1.ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมายังคงต้องติดตามมาตรการและการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง แม้จะได้คาดการณ์ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญจะลดระดับความรุนแรงและเข้าสู่ภาวะปกติภายในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.นี้

2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแบบช้าๆ และการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา เครื่องนุ่งห่ม ที่อาจจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนการจ้างงานโดยการลดชั่วโมงการทำงานลงหรือการขอใช้มาตรา 75 ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

3.ปัญหาการกีดกันทางการค้าจากการทำประมงผิดกฎหมายและปัญหาแรงงานบังคับที่ส่งผลต่อการส่งออกของธุรกิจประมงและธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำ แม้จะยังไม่พบความรุนแรงในการเลิกจ้างแรงงานในสาขาประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ในการขจัดการทำประมงผิดกฎหมายและการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับในภาคประมงตามมาตรฐานสากล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรปต่อไป และ 4.จากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 20 สาขา ควรติดตามการบังคับใช้ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือกับสถานประกอบการอย่างเข้มงวด และสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานในการเข้ารับการทดสอบฝืมือแรงงาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เพื่อที่แรงงานจะได้มีความตื่นตัวในการพัฒนาฝืมือแรงงานให้ได้รับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและจะส่งผลต่อการยกระดับผลิตภาพการผลิตของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ