(เพิ่มเติม) คลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้างสิ้น เม.ย.59 คิดเป็น 44.09% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 16, 2016 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ 30 เม.ย.59 มีจำนวน 6,050,595.88 ล้านบาท คิดเป็น 44.09% ของ GDP โดยแบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาล จำนวน 4,474,219.15 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 1,039,689.49 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 524,402.57 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 12,284.67 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 36,946.02 ล้านบาท

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวด้วยว่า สบน.เตรียมรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้ได้มีการบริหารหนี้ดังกล่าวให้ลดลงมาเหลือ 4.98 แสนล้านบาทแล้ว จากที่จะต้องลดลงให้เหลือไม่ถึง 5 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีงบประมาณ 2559

ทั้งนี้ เป็นการบริหารหนี้จาก 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 90,000 ล้านบาท และอีกส่วนมาจากการกู้เงิน 4.1 แสนล้านบาท โดยการบริหารจัดการหนี้เกิดจากการเร่งระบายข้าว ซึ่งเมื่อได้เงินมาก็นำมาชำระหนี้ในส่วนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อน และหลังจากนี้จะเร่งบริหารจัดการหนี้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณีที่ไทยได้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ทั้งในส่วนของการแก้ไขขอบเขตหนี้สาธารณะ, การปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลหนี้สาธารณะ และหนี้เงินกู้ที่เป็นความเสี่ยงทางการคลังให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ จะมีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยหรือไม่นั้น นายสุวิชญ กล่าวว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะพิจารณาการให้เครดิตจากหลายปัจจัยประกอบกันไป ทั้งนี้เชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่บริษัทฯ จับตาในช่วงต่อจากนี้ คือ สถานการณ์ทางการเมืองของไทย จากที่จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประเด็นที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ

ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ทางด้านเศรษฐกิจของไทยนั้นมีสัญญาณที่เป็นบวก โดยสะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ฐานะการคลังที่ความสามารถในการจัดเก็บภาษียังทำได้ดี ประกอบกับประเทศยังมีความสามารถในการกู้เงินและไม่มีปัญหาต้องกังวลฃ

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ต้องจับตา คือ การทำประชามติของประเทศอังกฤษในเรื่องการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหากอังกฤษตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิก EU ก็อาจจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมาถึงไทยได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ