Brexit: KBANK-SCB มองผลประชามติอังกฤษเพิ่มความเสี่ยงกดดันส่งออกไทย-ศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 24, 2016 18:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบจาก Brexit เพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2559 นอกเหนือไปจากความเสี่ยงอุปสงค์ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าที่มีอยู่แล้ว แม้ว่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นกว่าระดับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งจะช่วยให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อิงไปกับราคาน้ำมันดิบปรับตัวดีขึ้นไปด้วย

แต่สัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก ยังคงจำกัดท่ามกลางความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความเป็นไปได้ของการคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2559 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.0% (คาดการณ์เดือนเม.ย.59) ลดน้อยลง และเมื่อประกอบกับผลกระทบจาก Brexit ผ่านค่าเงินปอนด์สเตอริง และยูโรที่อ่อนค่าลงที่จะมีผลกระทบในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับมุมมองภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2559 โดยคาดว่าจะหดตัวที่ 2.0% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -1.0 ถึง -3.0%

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.59 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และหดตัวในทุกหมวดสินค้าส่งออกหลัก ยกเว้นรถยนต์ โดยมูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค.59 อยู่ที่ 17,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องที่ 4.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรอาทิข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังที่หดตัวลงอย่างมากจากปริมาณการส่งออกที่ลดลง ในขณะที่ราคาตลาดโลกไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากนัก แม้ว่าอุปทานโลกจะลดลงจากภาวะภัยแล้งก็ตาม

ภาพรวมการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ตลาดจีนหดตัวมากที่สุดในบรรดาตลาดหลัก การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกไปยังตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีนและ อาเซียนต่างหดตัวลงในทุกตลาด แต่ตลาดจีนหดตัวลงมากที่สุดที่ร้อยละ 7.7 (YoY) ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะการนำเข้าและส่งออกของจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ที่หดตัวร้อยละ 9.6 และ 7.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าหลักของไทยไปจีนหดตัวทั้งในหมวดของวัตถุดิบ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และสินค้าขั้นกลาง เช่น เคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ผลการลงประชามติครั้งนี้ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกบนพื้นฐานความเปราะบางที่มีอยู่เดิม โดยความเสี่ยงส่วนใหญ่อยู่ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจของ UK และ EU ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภูมิภาคอื่นๆ จากช่องทางการค้าและตลาดการเงิน อันจะนำมาซึ่งการตอบโต้ในเชิงนโยบายจากประเทศต่างๆ ทั้งนี้ นอกเหนือจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบรุนแรงในเชิงสังคมและการเมือง โดยหลายฝ่ายมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวใน EU ด้วย

ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงนั้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมูลค่าการส่งออกจากไทยไป UK อยู่ที่เพียง 2% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ผู้ส่งออกไก่แปรรูปที่มีตลาดหลักอยู่ใน UK และ EU จะได้รับผลกระทบรุนแรง นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ยังต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่ผันผวน รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้นำเข้า

ส่วนเงินบาทจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากการไหลออกของเงินทุนในระยะสั้นซึ่งจะมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพทางการเงินที่ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง และเงินทุนสำรองที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว อีไอซีมองว่า Brexit เปิดโอกาสให้ไทยสามารถต่อรองทางการค้ากับ UK โดยตรงได้มากขึ้น แต่หากเศรษฐกิจ UK และ EU ซบเซาเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยยังต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องแยกประสานงานกับ UK และ EU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ