ผู้ว่าฯกฟผ.คนใหม่ ผลักดันโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควบคู่โรงไฟฟ้าถ่านหิน,เล็งใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานแหล่งระดมทุนในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 30, 2016 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แถลงนโยบายการดำเนินงานในโอกาสขึ้นรับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ โดยมุ่งมั่นจะผลักดัน กฟผ. ให้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และนำพาให้กฟผ. เป็นองค์กรที่มีคุณค่าต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ ให้ได้รับการยอมรับและสนับสนุนอย่างยั่งยืนตลอดไป โดยกฟผ.จะเสนอกระทรวงพลังงานเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่มีแผนใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดหาเงินทุนของกฟผ.ในอนาคต

"การมารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ในช่วง 1 ปี 10 เดือน ผมจะเน้นการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อให้สังคมเห็นว่า โรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งจะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มศักยภาพควบคู่กับพลังงานถ่านหิน ให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงอย่างสมดุล สร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งต้องทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสมเพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน โดยคำนึงถึงการเป็นผู้สนับสนุนการลดโลกร้อนควบคู่กันไปด้วย"นายกรศิษฏ์ กล่าว

นายกรศิษฏ์ กล่าวว่า กฟผ.มีงานเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการหลายด้าน โดยต้องสานต่องานในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เริ่มจากการเสนอให้มีการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2015) ทั้งด้านสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงและกำลังผลิตไฟฟ้า โดยจะเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหินในสัดส่วนที่เหมาะสม เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในปัจจุบันที่มีปริมาณสำรองมาก สามารถควบคุมต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงเกินไป ช่วยสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าได้

โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ขณะที่ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.69 ทั้งนี้ กฟผ. จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าเทพาเป็นที่ยอมรับของประชาชน ยึดแนวทาง “โรงไฟฟ้าอยู่ที่ใด สังคมอยู่ดีมีสุข" ชุมชนต้องได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ทั้งจากกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และจากโครงการพัฒนาชุมชนของ กฟผ. ด้านการขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนนั้น กฟผ. จะเสนอขอกระทรวงพลังงานเพิ่มสัดส่วนความรับผิดชอบของ กฟผ. ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ให้สูงขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น

ด้านการจัดหาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า กฟผ. จะเร่งรัดศึกษาโครงการคลังสถานีแปลงก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit:FSRU) ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ด้านความมั่นคงและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ส่วนการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างประเทศ นอกจากจะเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบทวิภาคี เช่น ไทย–สปป.ลาว , ไทย–มาเลเซีย แล้ว ที่น่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม คือ การซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีในโครงการนำร่องสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังสิงคโปร์ ผ่านไทยและมาเลเซีย (Lao PDR, Thailand, Malaysia, Singapore Power Integration Project: LTMS PIP) คาดว่าจะมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2561 พร้อมกันนี้ กฟผ. จะปรับปรุงระบบงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเร่งรัดให้ตอบสนองงานของ กฟผ. รวมทั้งสนับสนุนนวัตกรรมของประเทศ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะรัฐต่อรัฐ กฟผ. ดำเนินการผ่านบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา เช่น โครงการโรงไฟฟ้ากวางจิ ในเวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้ามายตง ในเมียนมา เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดด้านความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันทางกระทรวงพลังงานพร้อมสนับสนุนให้มีการแก้ไขผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อลดข้อจำกัดต่าง ๆ และจะมีการหาแนวทางการเพิ่มทุนให้กับ EGATi

ทั้งนี้ การลงทุนของ กฟผ. ในอนาคตมีจำนวนมากนับแสนล้านบาท แต่ กฟผ. มุ่งมั่นที่จะไม่เพิ่มภาระหนี้สาธารณะให้กับประเทศ จึงได้ศึกษาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) ได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยปัจจุบัน EGATIF มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนและเป็นที่พอใจของนักลงทุนเป็นอย่างดี EGATIF จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดหาเงินทุนของ กฟผ. ในอนาคต

กฟผ. มีมุมมองการดำเนินงานในหลายมิติ รวมถึงการเป็นองค์กรที่มีคุณค่าต่อสังคม อาทิ การให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับกระแสโลกที่ประเทศไทยได้ไปแสดงเจตจำนงต่อสหประชาชาติ โดย กฟผ. ลดก๊าซเรือนกระจกผ่าน 4 มาตรการ คือ เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุ ปรับปรุงอุปกรณ์โรงไฟฟ้าปัจจุบัน และมีการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ซึ่งโครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ที่ กฟผ. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 14 ล้านตัน และโครงการปลูกป่า กฟผ. ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 รวมกว่า 440,000 ไร่ โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการปลูกป่า กฟผ. ว่า สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 8.45 ล้านตัน และปล่อยก๊าซออกซิเจนคืนสู่บรรยากาศได้ประมาณ 6.15 ล้านตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ