นบข.เห็นชอบเปลี่ยนตัวปธ.คณะอนุกรรมการติดตามสต็อกข้าวฯ-ไฟเขียวหลักการตั้งสถาบันฯข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 30, 2016 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริการจัดการข้าว (นบข.) เห็นชอบให้ปรับปรุงคณะอนุกรรมการติดตามคณะอนุกรรมการติดตามสต๊อกข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยได้เปลี่ยนประธานคณะอนุกรรมการ จากรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมแทน

นอกจกานี้ ให้เพิ่มสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภายรัฐ (ป.ป.ท.) มาเป็นคณะกรรมการด้วย โดยการดำเนินคดีกว่า 1,000 คดี ได้ส่งฟ้องศาลไปแล้ว 650 คดี อีก 20 คดียังอยู่ระหว่างการทบทวนคดี และยังมีอีก 8 คดีที่ไม่ส่งฟ้อง ซึ่งที่ประชุมได้ให้กลับไปตรวจสอบอีกครั้ง ถึงสาเหตุในการไม่ส่งฟ้อง

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์ข้าวนั้น ที่ประชุม นบข.ให้ความเห็นชอบว่า มีความจำเป็นต้องมีสถาบันลักษณะนี้ขึ้นมา แต่เพื่อความคล่องตัว และเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินมีระเบียบรองรับ รูปแบบในระยะต้นน่าจะเป็นในลักษณะแบบมูลนิธิ และได้มีการของบประมาณสนับสนุน 750 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี และมีมติขยายให้ครอบคลุมไปถึงสินค้าการเกษตรอื่นๆด้วย ซึ่งเน้นการพัฒนาส่งเสริมนวัตกรรมสินค้าเกษตรทุกตัว โดยนำร่องที่สินค้าข้าวก่อน

ส่วนแผนการผลิตและตลาดข้าวครบวงจร ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการดำเนินการ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการลดพื้นที่ปลูกข้าว ยังมีพื้นที่อีก 5 แสนไร่ที่ไม่มีโครงการรองรับ ซึ่งทางกระทรวงได้เสนอโครงการเข้ามา เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทน หรือทำปศุสัตว์ได้

เรื่องที่ 2 ในโครงการส่งเสริมการปลูกนาแปลงใหญ่ ที่มีการกำหนดให้การสนับสนุน 400 กว่าแปลง ที่ประชุมมีมติขยายระยะเวลาให้สินเชื่อชาวนาที่สนใจเข้าร่วมโครงการจาก 1 ปี เป็น 3 ปี เนื่องจากการปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ต้องใช้เวลาต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการส่งเสริมดึงดูดให้คนหันมาทำนาแปลงใหญ่ เพื่อผลิตข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยโครงการนี้ รัฐบาลจะเป็นคนดูแลเรื่องภาระดอกเบี้ย 3.5% ธ.ก.ส.จะดูแลส่วนหนึ่ง ส่วนเกษตรกรรับผิดชอบภาระดอกเบี้ย 0.01%

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รายงานความคืบหน้าของมาตรการที่ใช้ไปในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวฤดูกาล 58/59 ต่อที่ประชุม เช่น การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจัดไปจนถึงเดือนพฤษภาคม จัดไปแล้ว 92 ครั้งใน 33 จังหวัด มีการซื้อขายข้าวประมาณ 6 หมื่นตัน มูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรสามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด 100-800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของข้าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ