นายกฯหนุน"ไทยแลนด์ 4.0"วางเป้าเป็นฮับด้านขนส่ง-ท่องเที่ยว,เร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 16, 2016 11:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งผลักดันการเดินหน้าประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการพัฒนาประเทศเพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยวางเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ จะเร่งผลักดันรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร เฟสแรก 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 905 กิโลเมตรให้แล้วเสร็จภายในปี 63 ก่อนจะขยายไปเฟส 2 และเฟส 3 ที่จะต้องทยอยเปิดให้บริการ ภายในปี 65 ขณะที่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลจะให้การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและดูแลนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ หลังมีการผลงานวิจัยที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางมาไทยราว 34 ล้านคนในปีหน้า ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก

"การเดินหน้าประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0" นั้น เป็นการพลิกโฉมการพัฒนาประเทศ จากการแก้ปัญหารายวัน เหมือนกับการ ปะ ผุ เลี้ยงไข้ ทำนองนี้ที่ผ่านมา วันนี้เราจะต้องทำเพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะต้องมีกรอบนโยบายที่ชัดเจนสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของโลก และขององค์การสหประชาชาติ เพราะเรา เพื่อนบ้าน CLMVT นั้น เป็นส่วนประกอบของภูมิภาคอาเซียนและของโลกด้วย เราจะต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Stronger Together โดยประเทศไทย ต้องอาศัยความได้เปรียบเชิงพื้นที่ และความพร้อมของเรา ในการแสดงบทบาทนำร่วม และการเป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้าน"พลเอกประยุทธ์ กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อคืนนี้

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ จะมีการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร เฟสแรก 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 905 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 63 ส่วนเฟสที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,600 กว่ากิโลเมตร และเฟสที่ 3 จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 800 กว่ากิโลเมตร จะทยอยเปิดให้บริการภายในปี 65 ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ ขนาด 1.435 เมตร อีก 4 เส้นทางก็กำลังเดินหน้าเจรจา เพื่อเลือกรูปแบบความร่วมมือ การลงทุน

สำหรับการขนส่งทางน้ำ จะมีการยกระดับท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ สำหรับใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่อเรือ และการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ เป็นต้น และการขนส่งทางอากาศ ได้เตรียมการในเรื่องของการขยายศักยภาพสนามบินอู่ตะเภา ให้สามารถรองรับผู้โดยสาร 5 ล้านคนต่อปี จากราว 3 ล้านคนในต้นปีหน้า รวมถึงจะมีการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานด้วย

ศูนย์กลางการท่องเที่ยว รัฐบาลก็สนับสนุน ทั้งการท่องเที่ยวในชุมชน ท้องถิ่น และการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจ ที่ระบุว่าในปี 60 อาจมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดินทางมาไทย ประมาณ 34 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 ล้านคน ในปีนี้จะเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศ ราว 2.84 ล้านล้านบาทซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ยังมีศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ ศูนย์กลางการแปรรูปผลผลิตการเกษตร รัฐบาลก็มีหลายมาตรการในการส่งเสริม เช่น การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ ๆ ป้อนอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งเพื่อยกระดับความ สามารถของ Startup และเอสเอ็มอี ขณะที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาช่วยเหลือสินค้าชุมชนด้วย มาตรการ "ช็อปช่วยชุมชน" โดยซื้อสินค้า OTOP ประชารัฐ แล้วสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ตามจำนวนที่ซื้อจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทเริ่มวันที่ 1-31 ส.ค.นี้

สำหรับศูนย์กลางเพื่อการส่งออกของภูมิภาค จะต้องสร้างแรงดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ได้พิจารณาประเทศไทย ในการจัดตั้ง “สำนักงานใหญ่" ในภูมิภาค หรือเป็นฐานการผลิต โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เช่น ค่ายรถยนต์รายใหญ่ ก็มีความสนใจในการลงทุนสายการผลิตเดิมอยู่แล้ว รถยนต์ Hybrid รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน จะต้องมีการลงทุนงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการเจรจาเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ในการลงทุนต่าง ๆ เพิ่มเติม

"วันนี้สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือความมีเสถียรภาพทางการเมือง ความสงบเรียบร้อย และนโยบายของประเทศ ซึ่งเรามีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับนะครับ ด้านความมั่นคง รัฐบาลนี้จำเป็นต้องผลักดันให้มีการทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ" 20 ปี และ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ให้สอดคล้องกัน รวมความไปถึงข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปด้วยนะครับ แผนปฏิรูปต้องสอดคล้องกันทั้ง 3 อย่าง เหล่านี้ต้องบรรจุลงไปด้วย เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ระยะยาว นักลงทุนต้องการความมั่นใจ รัฐบาลก็ต้องสร้างความเชื่อมั่น"นายกรัฐมนตรี กล่าว

พลเอกประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมีความเชื่อมั่นต่อไทย และแสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่จะก้าวไปสู่การผลิตที่มีระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มีการต่อยอดเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเพื่ออนาคต สร้างห่วงโซ่มูลค่า รวมทั้งมุ่งไปสู่ภาคบริการเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนกิจการเดิม ,การจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ และการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีโครงการของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน จำนวน 121 โครงการ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท และยังมีอีกหลายประเทศให้ความสนใจทำนองนี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ